ชิปเซ็ตที่ Nintendo Switch ใช้นั้นมีชื่อว่า Nvidia Tegra X1 โดยเป็นชิปเซ็ตที่ใช้ซีพียูจาก ARM แต่ตัวประมวลผลกราฟฟิคนั้นใช้ที่ Nvidia พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งมีพลังประมวลผลค่อนข้างสูงทีเดียว
อย่างไรก็ตามชิปเซ็ต Nvidia Tegra X1 นี้มีช่องโหว่อยู่ ซึ่งช่องโหว่ดังกล่าวอยู่ในระดับ bootROM ซึ่งไม่สามารถปิดได้ เนื่องจากถ้าจะทำการปิดต้องทำตั้งแต่ก่อนจะส่งเครื่องออกจากโรงงานเท่านั้น
ตัวแฮคดังกล่าวมีชื่อว่า Fusee Gelee (เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า Frozen Rocket) ใช้ช่องโหว่ที่อยู่ใน USB Recovery Mode ที่ไม่ได้โหลดระบบปฏิบัติการตัวเต็มขึ้นมา ทำให้ระบบความปลอดภัยยังไม่ทำงาน เมื่อส่งโค้ดที่ผิดพลาดเข้าไปยัง bootROM จะเกิด buffer overflow และส่งผลให้สามารถรันโปรแกรมได้ตามที่ต้องการ
อย่างไรก็ตามการส่งสัญญาณนี้จะต้องทำการช็อตวงจรของจอยคอนข้างขวาเสียก่อน ถึงจะส่งข้อมูลที่ผิดพลาดเข้าไปขณะที่บูทเข้า bootROM ได้
สำหรับวิธีอุดช่องโหว่ดังกล่าวนั้น Nintendo/Nvidia จะต้องปิด ipatches ตัวที่เป็น ODM_PRODUCTION ซึ่งการแก้ไขใดๆ ต้องทำการที่จะเบิร์นฟิวส์ทิ้ง เมื่อฟิวส์ดังกล่าวขาดแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้ทั้งสิ้น แปลว่า Nintendo Switch ทั้ง 14.1 ล้านเครื่องที่ขายไปแล้วนั้นไม่มีทางที่จะอุดช่องโหว่นี้ได้เลย
อย่างไรก็ตามแม้จะป้องกันการแฮคไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า Nintendo จะตรวจจับการแฮคไม่ได้ไปด้วย ถ้าทำแบบ Nintendo 3DS ก็คาดว่าหลังจากตามเช็คได้ว่าเครื่องไหนแฮคก็ปิดไม่ให้เล่นออนไลน์ไปซะ ยุคนี้เครื่องที่เล่นออนไลน์ไม่ได้ก็แทบจะไม่มีความหมายไปเลย
นอกจากทีม ReSwitched ที่ปล่อยช่องโหว่ Fusee Gelee ก็ยังมีทีม fail0verflow ที่น่าจะพบช่องโหว่ตัวเดียวกัน แต่ยังอยู่ในช่วงระหว่าง 90 วันที่รอให้ Nintendo จัดการช่องโหว่เสียก่อนถึงจะเปิดเผยออกมาว่าพบอะไร โดยทีมนี้สามารถรัน Linux บนเครื่องนินเท็นโดสวิตช์ได้ และยิ่งไปกว่านั้น รันอีมูเลเตอร์เครื่อง GameCube อย่าง Dolphin และเล่นเกมส์อย่าง The Legend of Zelda: The Wind Waker ได้อีกด้วย เรียกได้ว่าแทบจะพรุนกันไปเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามทีมงานเตือนว่าการแฮคนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องทำการปรับค่าแรงดันไฟ กระแสไฟด้วยตัวเองทั้งหมด อาจจะทำให้เครื่องร้อนจนลุกติดไฟได้ถ้าหากไม่รู้ว่ากำลังปรับค่าอย่างไรอยู่
ที่มา – Android Police, Android Authority