การขับเคลื่อนของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) หลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกัน และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็งด้วยศักยภาพและความพร้อมของโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและหลากหลาย โดยหลังจากการควบรวม NT ได้มีทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีมูลค่ารวม 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันมากกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีปทั่วโลก 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมรวม 5 ย่านความถี่ 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก รวมถึงมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 500 แห่ง
การดำเนินงานของ NT มุ่งเป้าเป็นกำลังหลักให้กับหน่วยงานภาครัฐทุกระดับในการปรับเปลี่ยนพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีด้านดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลคือการนำพาประเทศสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องการนำเทคโนโลยี 5G มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการประชาชน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของประเทศจึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลและประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล
โครงการ 5G เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ NT เน้นการลงทุนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยมีคลื่นความถี่ที่ได้รับจากการประมูลทั้งในย่านความถี่สูงและต่ำ ได้แก่ คลื่นความถี่ 26 GHz ที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการและให้บริการแก่กลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนภาครัฐในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart city) และ คลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งดำเนินการใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การดำเนินการเองสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการพื้นฐานทั่วไป ไม่ต้องการแบนด์วิดท์สูง และการให้พันธมิตรร่วมให้บริการ 5G ในรูปแบบ Network Sharing เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนขององค์กร
สำหรับการพัฒนา 5G บน คลื่นความถี่ 26 GHz เพื่อตอบสนองความต้องการและให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในปีนี้ NT ได้มุ่งเน้นการพัฒนาและเปิดให้บริการร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และสนับสนุนการพัฒนาสู่ Smart City โดย NT ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ 5G Enterprise Private Network กับ เดอะ ไวท์สเปซ (WhiteSpace : WSP) และ จุงหวา เทเลคอม (Chunghwa Telecom) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้เริ่มนำมาติดตั้งให้กับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรมบางปูในปี พ.ศ. 2565 เพื่อช่วยให้เกิดการทำงานทางไกลร่วมกันด้วยเทคโนโลยี AR ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ การปฏิบัติงานในโรงงาน และการใช้งานโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมเติบโตแบบก้าวกระโดดพัฒนาสู่ Smart factory หลังยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ เดลต้า ประเทศไทย จะสามารถ ใช้เครือข่าย 5G นี้ ร่วมกับ AIoT และ Cloud เป็นพื้นฐานของเครือข่ายสารสนเทศอัจฉริยะ พร้อมขยายการใช้งานไปสู่โรงงานอื่น ๆ ในอนาคต
เทคโนโลยีการสื่อไร้สาย 5G มีความเร็วระดับกิกะบิต ความหน่วงต่ำ และรองรับเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากแบบเรียลไทม์ ทำให้การเชื่อมต่อไม่สะดุด ซึ่งไม่เพียงแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอุปกรณ์ต่างๆที่เชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เน็ต Internet Of Things (IoT) อีกทั้งเทคโนโลยี 5G ยังช่วยยกระดับ IoT พัฒนาสู่ระบบ Artificial intelligence of things (AIoT) เกิดการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตเพื่อให้การดำเนินงาน IoT ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร และปรับปรุงการจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ ประเมินผล ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทำได้แบบไร้รอยต่อและรองรับอุปกรณ์จำนวนมาก
NT ยังคงมีแผนที่จะสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดย NT เป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G ด้าน เดอะ ไวท์สเปซ เป็นผู้มอบประสบการณ์ด้านการตลาดและการดำเนินงานในพื้นที่ และ จุงหวา เทเลคอม จะให้บริการ MEC Intelligent A+ รวมถึงการออกแบบและการวางแผน เพื่อให้บริการโซลูชั่นอัจฉริยะ 5G ร่วมกับ AIoT แบบครบวงจร โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้บริการ 5G คุณภาพสูง ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว การแพทย์ และการเงินของประเทศไทยในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบัน NT มีศักยภาพในการให้บริการคลื่นความถี่ 5G ร่วมกับพันธมิตร ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่อื่น ๆ และพร้อมสนับสนุนการพัฒนาเมืองสู่การเป็น Smart city ต่อไป