บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิจูเนียร์อะชีฟเม้นท์ ประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น จัดโครงการนำร่อง Samsung Innovation Campus มุ่งพัฒนาศักยภาพคน ยกระดับความสามารถของเยาวชนในยุคดิจิทัล ผ่านการอบรมความรู้ด้านโค้ดดิ้ง (Coding) หรือการเขียนโปรแกรมสั่งงานคอมพิวเตอร์ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาที่ผลักดัน ให้เด็กไทยมีทักษะด้านดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกในศตวรรษที่ 21 โดยในครั้งนี้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 56 คน แบ่งเป็น 11 กลุ่ม เข้ารับการอบรมเป็นเวลา 10 วัน รวม 60 ชั่วโมง และได้โอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน Ideathon ชิงทุนรางวัลต่อยอดการศึกษารวม 60,000 บาทในกิจกรรมปิดท้ายของโครงการ
นางวรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า “ซัมซุงมีปรัชญาและความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยในด้านเทคโนโลยี ซึ่งตรงกับนโยบายของกระทรวงศึกษาที่ผลักดันให้เด็กไทยมีทักษะด้านดิจิทัล จึงได้จัดโครงการ Samsung Innovation Campus รุ่นนำร่อง และเตรียมจัดโครงการอย่างเป็นทางการในอนาคต ในครั้งนี้โครงการได้รับความร่วมมือจาก จูเนียร์อะชีฟเม้นท์ประเทศไทย และสถาบันเทคโลยีไทย-ญี่ปุ่น ที่ร่วมกันพัฒนาโครงการและปรับหลักสูตรจนเข้ากับบริบทของนักเรียนไทยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช. ที่มีความสนใจและต้องการศึกษาต่อในสายวิศวะคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ และอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง”
นายธนกร ยังมีสุข นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า “การมาอบรมครั้งนี้เหมือนการเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไป ได้พบเพื่อนใหม่และอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือ ความจริงผมเรียนสายศิลป์ และเรียนโค้ดดิ้งด้วยตัวเอง ซึ่งก็ยังมีบางอย่างที่ไม่เข้าใจ แต่ที่นี่มีอาจารย์เข้ามาช่วยแนะนำและปรับแก้ผลงาน จากความรู้งูๆ ปลาๆ ตอนนี้สามารถเขียนโปรแกรมได้ เหมือนได้เจอขุมทองครับ ที่นี่สอนด้านโค้ดดิ้งอย่างเข้มข้น มีอุปกรณ์ให้พร้อมทุกอย่าง และมีเพื่อนที่คอยคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน แล้ววันสุดท้ายก็จะมีการแข่ง Ideathon ซึ่งเป็นการเอาความรู้ที่ได้เรียนมาใช้ทำงานร่วมกับเพื่อนในกลุ่ม เพื่อสร้างสรรไอเดียโซลูชั่นที่มีประโยชน์ต่อสังคมมาเสนอกรรมการด้วยครับ”
นอกจากนี้นายธนกรยังกล่าวอีกว่า “ผมได้ค้นพบตัวเองว่ามีความสามารถทางด้านการเขียนโปรแกรม ทำให้อยากศึกษาต่อในด้านนี้ เพราะตอนนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ยุค 4.0 คนที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยียังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่อีกมากครับ”
โครงการ Samsung Innovation Campus ในครั้งนี้เป็นการอบรมรุ่นนำร่องซึ่งจัดขึ้นในหลากหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้จัดการอบรมนี้ขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีประสบการณ์ทำงานโดยตรงจากซัมซุง และอาจารย์ผู้มีความรอบรู้และเข้าใจนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น คอยอบรมนักเรียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งบทเรียนมีเนื้อหาครอบคลุมความรู้โค้ดดิ้งพื้นฐานไปจนถึงระดับกลาง โดยเน้นให้ความรู้ในการเรียน 3 โปรแกรม ได้แก่ สแครช ไพทอน ภาษาซี และฝึกให้นักเรียนได้เขียนโปรแกรมสั่งการสแครชบอร์ด และอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์อาดูอิโน (Arduino) พร้อมตัวเซนเซอร์ตรวจจับต่างๆ
ระหว่างการแข่งขัน Ideathon นักเรียนได้นำเสนอไอเดียที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากมาย อาทิเช่น ทีมผู้ชนะรางวัลที่ 3 เงินรางวัล 10,000 บาท สร้างแอปพลิเคชัน Nullus ซึ่งเป็นแอปสำหรับตรวจจับมลพิษทางอากาศ ทางเสียง และดัชนียูวีทั่วประเทศไทย โดยใช้เซนเซอร์ที่ควบคุมผ่านโปรแกรมที่นักเรียนเขียนขึ้น
ผู้ชนะทีมที่ 2 เงินรางวัล 20,000 บาท นำเสนอไอเดียการสร้างแอปพลิเคชั่น UNTRASH แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการซื้อขยะจากที่อยู่อาศัย โดยทางบริษัทจะนำขยะที่ซื้อจากที่อยู่อาศัยมารีไซเคิลแปรรูปเป็นสินค้า นำรายได้จากการขายสินค้ามาจ้างพนักงานรับส่งขยะ สร้างอาชีพเสริมให้คนในชุมชน
และผู้ชนะรางวัลที่ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท มาพร้อมแนวคิดเก้าอี้รถเข็นผู้สูงอายุอัจฉริยะ Smart Wheelchair สำหรับทุ่นแรงผู้สูงอายุในการเคลื่อนรถโดยใช้ก้านควบคุมที่มาพร้อมปุ่มฉุกเฉินสำหรับเรียกผู้ดูแลหรือรถพยาบาล นักเรียนใช้ความรู้ภาษาซี ในการเขียนโค้ดควบคุมบอร์ดอาดูอิโนและตัวมอเตอร์ขับเคลื่อน จนออกมาเป็นรถโมเดลตัวอย่างขนาดเล็กที่สามารถนำมาแสดงให้คณะกรรมการและเพื่อนๆ ได้ชมในวันแข่งขัน
ทีม Innovazione ผู้ชนะการแข่งขัน Ideathon ได้กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของแนวคิดเก้าอี้รถเข็นอัจฉริยะ มาจากผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งต้องมีคนคอยเข็นเก้าอี้รถให้หรือจะต้องออกแรงหมุนล้อเพื่อเคลื่อนตัวเอง จากการค้นข้อมูลของนักเรียนพบว่า ในอนาคตผู้สูงอายุมีแนวโน้วที่จะมีจำนวนมากขึ้นในขณะที่ลูกหลานผู้ดูแลจะมีน้อยลง จึงได้นำปัญหามาแก้ไข้ภายในทีม และถึงแม้ว่าเพื่อนในกลุ่มส่วนใหญ่จะมาจากต่างโรงเรียน แต่ก็สามารถแบ่งงานและสื่อสารผ่านการส่งข้อความออนไลน์ได้ตลอด การทำงานเป็นกลุ่มนอกจากจะได้เพื่อนใหม่แล้ว ยังช่วยให้งานเสร็จอย่างรวดเร็วมีข้อผิดพลาดน้อยลง และรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่สามารถประดิษฐ์ผลงานออกมาเป็นรูปธรรม สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนี้ไปได้อย่างสวยงาม แม้ในอนาคตอาจไม่ได้วางแผนศึกษาหรือทำงานทางด้านนี้ แต่ตอนนี้ได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่าสามารถเขียนโค้ดสร้างโปรแกรม จึงเริ่มมีความคิดที่จะเรียนต่อและทำงานทางด้านนี้มากขึ้น และจะนำความรู้ที่ได้ในครั้งนี้ไปใช้ประยุกต์เป็นงานอดิเรก”
ซัมซุงเชื่อมั่นใน “ศักยภาพคน” และ “การพัฒนาสู่ชีวิตที่ดีร่วมกัน” ทั้งสองสิ่งนี้คือพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนธุรกิจของซัมซุงตลอด 50 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้สนับสนุนให้คนทุกคนค้นพบศักยภาพของตัวเอง และแสดงศักยภาพอย่างเต็มพลัง ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของซัมซุงทั่วโลก