26 ม.ค. อ.เขาใหญ่ : กลุ่มสามารถ ตั้งเป้าปี 61 ขยายตัวทั้งรายได้และกำไร หลังการปรับองค์กรครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา โดยชู SAMART Telcoms ขึ้นแท่นผู้ให้บริการโทรคมนาคม System Integrator เบอร์หนึ่ง จ่อเซ็นต์สัญญาสร้างรายได้สูงสุดทะลุหมื่นล้าน ด้าน SAMART Digital จะเห็นการพลิกฟื้นและเติบโตจากธุรกิจใหม่ๆ ที่เจาะตลาดเฉพาะกลุ่มและก่อให้เกิดรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่ม SAMART Utrans กำลังศึกษาธุรกิจด้านคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม รวมทั้งมีแผนนำบริษัท Air Traffic Control Services เข้าจดทะเบียนในตลท. ภายในสิ้นปีนี้ โดยกลุ่มสามารถตั้งเป้ารายได้รวม ปี 2561 จำนวน 20,000 ล้านบาท
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า “ในปี 2560 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของสายธุรกิจไอโมบาย แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบ ทั้งด้านรายได้และภาพลักษณ์จากการตัดธุรกิจมือถือออก แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพื่อวางรากฐานให้กับธุรกิจใหม่และสร้างความแข็งแกร่งในอนาคต ในปีที่ผ่านมาบริษัทจึงเน้นการปรับปรุงองค์กรและการแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ จนเกิดธุรกิจ Digital Trunked Radio และธุรกิจให้เช่าเสาสัญญาณ Co-Tower ในกรมอุทยาน ซึ่งจะเริ่มรับรู้รายได้ในปี 61 ส่วนสายธุรกิจ ICT Solutions ภายใต้การบริหารของสามารถเทลคอม ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ สามารถเซ็นต์สัญญาได้ 80 โครงการ รวมมูลค่า 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีงานในมือมูลค่าเกือบ 1 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน อาทิ โครงการจัดซื้อและว่าจ้างบํารุงรักษาระบบ Core Banking ธนาคารอาคารสงเคราะห์, โครงการซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคมทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นต้น ด้านสายธุรกิจ U-trans ก็ประสบความสำเร็จในการขยายอายุสัมปทานการให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ ในประเทศกัมพูชา โดยบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ได้ต่อสัญญาเพิ่มอีก 7 ปี จากเดิม 32 ปี เป็น 39 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2544-2583 นอกจากนี้ บริษัท เทด้า ก็สร้างรายได้จากการบริหารงานก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูง โดยมีงานในมือแล้วกว่า 2 พันล้านบาท และอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตโดดเด่น คือ ธุรกิจกล้องวงจรปิด ของบริษัท วิชั่น แอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม ทำรายได้สูงสุดและมีกำไรพุ่งขึ้นเกือบ 500 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่ผ่านมา
ปี 2018 แต่ละสายธุรกิจจะมีจุดมุ่งเน้นที่แตกต่างกันไปตาม Business Life Cycle เช่น SAMART Digital : Year of Changes & Progressive เน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างธุรกิจ, SAMART Telcoms : Year of Challenges to beat New High เน้นการทำสถิติสูงสุดทั้งมูลค่าสัญญาที่เซ็นได้และการเติบโตของรายได้ประจำ, SAMART Utrans : Year of Chances & New Business Expansion เป็นปีแห่งการขยายธุรกิจและการลงทุน, ทั้งนี้ SAMART Corporation ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ยังมีนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง ไม่จำกัดบทบาทแค่ Holding Company อีกต่อไป เพื่อสร้าง Value สูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยจะเปิด SAMART Next Forum เพื่อค้นหาธุรกิจ และพร้อมลงทุนกับกลุ่ม Start up ที่น่าสนใจ
ในปี 2561 คาดว่ากลุ่มสามารถเทเลคอมจะมีรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท ด้วยปัจจัยหนุนมากมายโดยเฉพาะการผลักดันของภาครัฐต่อการพัฒนาประเทศ 4.0 ประกอบกับความตื่นตัวของภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าในช่วง 3 ปีนี้ จะมีการลงทุนด้านไอทีภายในประเทศมากถึง 5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มโครงการในมือ ( Backlog ) ให้ได้ถึง 20,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ยังเน้นการเพิ่มรายได้ประจำให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกเหนือจากบริการด้านไอซีทีแล้ว ยังจะมีการเปิดตัวบริการ Cyber Security Solution ที่สอดคล้องกับโลกดิจิทัล ภายใต้ชื่อบริษัท SAMART SecureInfo ให้บริการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลระดับสูงสุด
ด้าน SAMART Digital หรือ SDC หลังการเปลี่ยนแปลงธุรกิจครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมาในปีนี้ จะเห็นความคืบหน้าของธุรกิจใหม่ชัดเจน คือ Digital Trunked Radio ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ ทั้งจากการจำหน่ายเครื่องลูกข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล (ราคาเครื่องละ 20,000-60,000 บาท ตามสเปคในแต่ละรุ่น ) และรายได้จากค่าใช้บริการรายเดือนๆละ 800 บาทต่อเครื่อง โดยภายในปีนี้ คาดว่าจะติดตั้งโครงข่ายสถานีฐานได้ประมาณ 1,000 แห่งและตั้งเป้าจำหน่ายเครื่องลูกข่ายจำนวน 50,000-100,000 เครื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังเริ่มต้นธุรกิจ Co-Tower โดยได้รับสัญญาสัมปทานในการติดตั้งเสาโทรคมนาคม ในกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ Mobile Operator เช่าใช้ ภายในระยะเวลา 10 ปี โดยในปีนี้ จะติดตั้งเสา Co-Tower ให้ได้ 250-300 ต้น ส่วนบริการ Content ทั้ง BUG และ EDT ได้มีการยกเครื่อง การให้บริการข้อมูลด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตไม่จำกัด ทั้งนี้ จะมีการเปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในเร็วๆนี้
สำหรับ SAMART U-trans ก็จะมีการเคลื่อนไหวที่โดดเด่นเช่นกัน ล่าสุดมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ SAMART Transolutions เพื่อบริหารธุรกิจด้านคมนาคมอย่างชัดเจน โดยมี Cambodia Air Traffic Services เป็นหัวหอกสำคัญ และคาดว่าจะนำบริษัท SAMART Transolutions เข้าจดทะเบียนในตลท.ภายในปลายปีนี้ ส่วนบริษัท เทด้า ก็มีโอกาสในการเพิ่มรายได้จากงบประมาณโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงอีกหลายพันล้านบาท
นายวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “หลังการปรับองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย บริษัทยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความมั่นคง และยังคงมุ่งเน้นการส่งมอบความเป็นเลิศ 4 ด้าน หรือ
“SAMART 4 Excellence” คือ
1.Digital Solutions Excellence การพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็น Digital มากขึ้น
2.Service Excellence การพัฒนาบริการ
3.Operation Excellence การนำเทคโนโลยีมาใช้ในขบวนการทำงานอย่างเต็มที่
4.Offering Excellence การส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าและผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 2561 จำนวน 20,000 ล้านบาท”
“กลุ่มบริษัทสามารถ” มุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการด้านเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอย่างครบวงจร ภายใต้บริษัทในเครือกว่า 20 บริษัท และมี 4 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) และล่าสุด บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน)