เสียวหมี่ คอร์ปอเรชั่น ( Xiaomi; Stock Code: 1810) ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน “Fortune Global 500” หรือการจัดอันดับบริษัทที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก 500 บริษัท ประจำปี 2019 ของนิตยสารฟอร์จูน เป็นครั้งแรก หลังจากที่ดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลาเพียง 9 ปี
ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เป็นบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับของ Global 500 ในปีนี้ โดยอยู่ในอันดับที่ 468 ด้วยรายได้รวม 26,443.50 ล้านดอลลาร์ และกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,049.10 ล้านดอลลาร์ ในปีก่อนหน้า และบริษัทยังอยู่ในอันดับ 7 ของประเภทบริษัทที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตและการค้าปลีก
“เสียวหมี่ใช้เวลาเพียง 9 ปี ในการผงาดขึ้นไปอยู่ในทำเนียบการจัดอันดับบริษัทที่มั่งคั่งที่สุดของ Fortune Global 500 ซึ่งเป็นการเดินทางที่เราจะต้องขอบคุณบรรดา Mi Fans และผู้ใช้งานทั่วโลกที่ให้การสนับสนุนเสียวหมี่อย่างเหนียวแน่นตลอดมา เรายังเป็นบริษัทที่มีอายุการก่อตั้งและระยะเวลาในการดำเนินกิจการน้อยที่สุดที่ได้รับการจัดอันดับในปีนี้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่เราจะเก็บไว้ย้ำเตือนอยู่เสมอ ในการเดินทางสู่จุดหมายต่อไปเพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วโลก” นายเหลย จวิน ผู้ก่อตั้ง ประธานกรรมการ และซีอีโอของ เสียวหมี่ กล่าว
“ปีที่ผ่านมา เราได้มีการพัฒนายุทธศาสตร์และปรับกลยุทธ์หลักของเรา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการบริหารงาน ระบบการศึกษาวิจัยและพัฒนา สายการผลิต การพัฒนาแบรนด์ และอีกมากมาย ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเสียวหมี่ ในการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดจากคู่แข่งทั้งภายในประเทศ และทั่วโลก การได้รับเกียรติในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นให้เราพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในการก้าวไปข้างหน้า เรายังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและนวัตกรรมขั้นสูง ในราคาที่จริงใจและซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นปณิธานในการดำเนินธุรกิจของเรา เพื่อทำให้ Mi Fans ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของเรา รวมถึงผู้ร่วมลงทุนกับเราได้เพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตให้ดีมากยิ่งขึ้นอีก” นายเหลย จวิน กล่าว
ในฐานะบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตที่ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านสมาร์ทโฟนและสมาร์ทฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) หลังการก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี 2553 เสียวหมี่ ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 500 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน (Fortune’s China 500) ในปีนี้เป็นครั้งแรก โดยอยู่ในอันดับที่ 53
ในปี 2555 เสียวหมี่ มีรายได้จากการขายทั้งหมดอยู่ที่หนึ่งหมื่นล้านหยวน หรือราว 1,453.72 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งแสนล้านหยวน หรือราว 14,537.21 ล้านดอลลาร์ ในปี 2560
เสียวหมี่ สร้างความเข้มแข็งทางด้านคุณค่าของตราสินค้าและพัฒนาศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่องในด้านเครือข่ายผู้ใช้งานและความสามารถในการพัฒนาแพลตฟอร์ม ต้องขอบคุณโมเดลธุรกิจอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและทรงพลังที่เรียกว่า “triathlon” และ กลยุทธ์ในการเสริมความได้เปรียบในตลาด “สมาร์ทโฟน + AIoT”
จากข้อมูลของ IDC องค์กรเชี่ยวชาญด้านการทำวิจัยการตลาดระดับนานาชาติ ประจำเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งรายงานว่าเสียวหมี่ เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนอันดับที่ 4 ของโลก จากมูลค่าการขายสมาร์ทโฟน เมื่อเทียบปีต่อปีเสียวหมี่ยังมีรายได้รวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 32.2% อีกด้วย นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัทที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ecosystem มากกว่า 200 บริษัท ซึ่งหลายบริษัทมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาสมาร์ทฮาร์ดแวร์ ซึ่งส่งผลให้เสียวหมี่สามารถสร้างแพลตฟอร์ม IoT สำหรับลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยสมาร์ทดีไวซ์มากกว่า 171 ล้านผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ไม่รวมสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อป เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2562
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เสียวหมี่ วางจำหน่ายมากกว่า 80 ประเทศ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ข้อมูลของ Canalys ในเดือนมีนาคม 2562 เปิดเผยว่าเสียวหมี่ ติดอันดับ 1 ใน 5 จากกว่า 40 ประเทศในแง่การจัดส่งสินค้า และมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในอินเดียอยู่ที่ 31.4% ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 นอกจากนี้ เสียวหมี่ ยังมีอัตราการเติบในยุโรปตะวันตกสูง โดยมียอดขายสมาร์ทโฟนเป็นอันดับที่ 4 หลังจากได้เข้าทำการตลาดอย่างเป็นทางการเพียง 2 ปีเท่านั้น รวมถึงประสบความสำเร็จในการขยายเข้าไปสู่ตลาดใหม่ในทวีปแอฟริกา และลาตินอเมริกาอีกด้วย
เสียวหมี่ ยังมุ่งมั่นและทุ่มเทในการขยายเครือข่ายช่องทางการค้าปลีกที่มีประสิทธิภาพสูง โดยจะรวมช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันในตลาดต่างประเทศ โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 เผยว่ามีร้านค้าที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น Mi Home Store ทั้งหมดกว่า 480 ร้าน ทั่วโลก คิดเป็นอัตราการเติบโต 93.5% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมากกว่า 110 ร้านค้าตั้งอยู่ในยุโรป และ 79 ร้านค้า ตั้งอยู่ในอินเดีย
เสียวหมี่ ยังได้ทุ่มเงินจำนวนหนึ่งหมื่นล้านหยวนในการพัฒนา “All in AIoT” สำหรับ 5 ปีข้างหน้า โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันของ “Smartphone และ AIoT” เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ AIoT สำหรับใน 5 – 10 ปี ข้างหน้า ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังวางแผนในการยกระดับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา และปรับแผนการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศจีน เพื่อปรับใช้ในตลาดต่างประเทศอีกด้วย
การจัดลำดับบริษัทที่มั่งคั่งที่สุดในโลก 500 บริษัท หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Global 500” เป็นการจัดอันดับบริษัทที่ทำรายได้สูงที่สุด 500 บริษัทจากทั่วโลก ซึ่งรวบรวมและเผยแพร่โดยนิตยสารฟอร์จูน โดยได้ทำการจัดลำดับต่อเนื่องเป็นปีที่ 67 โดยวัดจากผลประกอบการและกำไรสุทธิจากผลประกอบการในปีก่อนหน้า