นักวิจัยมหาวิทยาลัยโคโรลาโด พบวิธีเปลี่ยนของเสียจากการผลิตเบียร์ ไปใช้ลดต้นทุนผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออนแล้ว โดยงานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ลง Applied Materials and Interfaces เป็นที่เรียบร้อย
กระบวนการผลิตเบียร์นั้นจะใช้น้ำเปล่าเป็นปริมาณมาก (เบียร์ 1 ถัง จะต้องใช้น้ำเปล่ามากถึง 7 ถัง ในกระบวนการผลิต) และก่อนจะนำน้ำเสียจากกระบวนการผลิตนี้ไปทิ้งได้ก็จะต้องทำการกรองก่อน ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก แต่นักวิจัยพบว่าสามารถนำพวกมันไปใช้ผลิตแบตเตอรีได้ ทำให้แทนที่จะเป็นการเสียเปล่าก็จะทำให้กลายเป็นวัตถุดิบผลิตแบตเตอรีราคาถูก และยังลดต้นทุนการผลิตเบียร์ได้อีกด้วย
การสร้างอิเล็กโทรดจากมวลชีวภาพอาจจะไม่ใช่ของใหม่นัก แต่กระบวนการสร้างมักจะมีราคาแพง เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ผลิตนั้นต้องผ่านกระบวนการมาอย่างมาก แต่กรณีนี้สามารถแปลงน้ำเสียจากการผลิตเบียร์ไปช่วยสร้างอิเล็กโทรดได้ โดยใช้เชื้อราที่ชื่อว่า Neurospora crassa ที่เติบโตได้ดีในน้ำเสียที่มีน้ำตาลมาก โดยเชื้อรานี้จะทำความสะอาดน้ำเสีย และสร้างอิเล็กโทรดสำหรับลิเธียมไอออนที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดตั้งแต่เคยมีวิธีผลิตมาอีกด้วย
จากความสำเร็จในงานวิจัยนี้ ทีมงานนักวิจัยได้ทำการจดสิทธิบัตร และเปิดบริษัท Emergy เพื่อเตรียมนำเทคโนโลยีและงานวิจัยดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการทางการค้าในอนาคตอันใกล้นี้แล้ว
ที่มา – Engadget