ปัจจุบันแล้วเรามีบริการฟังเพลงออนไลน์อยู่หลายแอพฯแต่ที่ใช้กันมากๆ คือ Deezer, JOOX และ Apple Music แต่ตอนนี้เรามีบริการฟังเพลงออนไลน์ใหม่ล่าสุดที่เพิ่งมาทำตลาดในประเทศไทยก็คือแอพฯ “Spotify” เป็นแอพฯฟังเพลงชื่อดังที่มีฐานข้อมูลเพลงค่อนข้างมาก มีเพลงจากหลากหลายประเทศทั่วโลก และเพลงหายาก เพลงแนวแปลกๆ หาจากแอพฯนี้ได้ที่เดียวจึงค่อนข้างถูกใจคนที่ชอบฟังเพลงเฉพาะด้าน เช่น เพลงญี่ปุ่นนอกกระแส เพลงแนว EDM แนว Post-Rock และอีกหลากหลายเพลงที่หาจากแอพฯปกติไม่ได้เราจะเจอได้ที่นี่เท่านั้น
นอกจากเพลงที่มีความหลากหลายแล้วยังมีสมาชิกที่จ่ายเงินรายเดือนให้กับ Spotify ทั่วโลกกว่า 60 ล้านคนจากสมาชิกที่ใช้งานทั้งหมด 140 ล้านคน (ข้อมูลเมื่อ 1 สิงหาคม 2560) ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับบริการอันดับสองอย่าง Apple Music ที่ควบรวมกิจการกับ Beats ไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการเปิดให้ใช้บริการในไทยก็ยังมีคนไทยหลายคนพยายามหาวิธีเพื่อที่จะใช้งานฟังเพลงจาก Spotify ให้ได้ โดยการหาไฟล์ของแอพฯ มาติดตั้ง และใช้วิธีหลอกการเชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อให้ระบบเข้าใจว่าเราอยู่ในประเทศนั้นแล้วสามารถฟังเพลงได้ฟรี หรือการลงทุนใช้บัตรเครดิตไปตัดเงินที่ต่างประเทศเพื่อให้ได้เป็นสมาชิกฟังเพลงแบบไม่มีโฆษณา วันนี้ได้พร้อมให้บริการในประเทศไทยแล้วในราคาร้อยกว่าบาทเท่านั้นเอง
Spotify เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?
Spotify ก่อตั้งขึ้นมาจากโปรเจ็คสตาร์ทอัพโดย Daniel Ek ชาวสวีเดนเป็น CEO ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลกับวงการเพลงมากที่สุดในโลกด้วย (จากนิตยสาร Billboard Magazine) โดยที่ Daniel อยากให้มีบริการฟังเพลงที่ไม่ต้องเสียค่าโหลดทีละเพลง ไม่ต้องมากดทดลองฟัง ไม่ต้องมาหัวเสียเมื่อโหลดผิดเวอร์ชั่น ไม่ต้องกังวลว่าจะคุ้มหรือไม่
โดยให้บริการสองประเภทคือ ฟังฟรีแต่จะมีโฆษณาคั่นระหว่างเพลง และเสียเงินรายเดือน $10 เพื่อฟังฟรีไปทั่งเดือนโดยไม่ต้องมาเจอโฆษณาอีกต่อไป (ราคาในประเทศไทยคือ 129 บาทต่อเดือน และบางประเทศถูกถึง 90 บาท ขึ้นอยู่กับการทำตลาดประเทศนั้นๆ) ด้วยแนวคิดนี้จึงทำให้มีผู้ใช้บริการจำนวนมากจนทำให้เกิดเป็นแอพฯ ที่ทำคล้ายๆ กันออกมาเต็มไปหมด แต่จุดเริ่มต้นที่แท้จริงคือ Spotify นั่นเอง
ค่าบริการ
หลังจากการเปิดตัวในประเทศไทยแล้ว เราได้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าบริการที่น่าสนใจดังนี้
- ฟรี ใช้บริการฟังเพลงได้ฟรี แต่จะมีโฆษณาคันกลางระหว่างเพลง และไม่สามารถเลือกเพลงได้เอง ถ้าไม่ชอบเพลงไหนต้องกดข้ามเพลงนั้นๆ แทน โหลดมาฟังออฟไลน์ไม่ได้
- รายเดือน เสียค่าบริการ 129 บาทต่อเดือน สามารถใช้งานได้ไม่จำกัด เลือกเพลง โหลดมาฟังออฟไลน์ หรือจัดรายการเพลงได้อย่างอิสระจุดเด่นอีกอย่างคือการฟังเพลงแบบความละเอียดสูงได้ด้วย
- รายเดือน แบบครอบครัว เป็นการฟังแบบแชร์บัญชีกันได้สูงสุด 6 คน ซึ่งสามารถฟังได้พร้อมกัน เลือกเพลงกันได้อิสระ คิดค่าบริการเดือนละ 199 บาท
- รายวัน มีบริการตัดเงินแบบรายวันด้วย ใครอยากใช้ฟังขณะขับรถ หรือไปเที่ยวที่ไหนก็กดเสียเงินรายวัน 8 บาทได้เลยทันที
- รายสัปดาห์ ถ้าเหมาทั้งสัปดาห์ สามารถตัดเงินผ่านโอเปอเรเตอร์ได้ในราคา 39 บาท/สัปดาห์
- อื่นๆ ยังมีรายเดือน 139 บาท และ 3 เดือน 417 บาทสำหรับคนที่ไม่มีบัตรเครดิต โดยจะตัดกับบิลโทรศัพท์รายเดือน และเติมเงินมือถือแทน จะเห็นว่าแพงกว่าเล็กน้อย ซึ่งอาจจะเป็นค่าบริการของทางโอเปอเรเตอร์นั้นๆ ในการดำเนินการเรื่องบิล และค่าใช้จ่ายด้วย
เมื่อเปิดใช้ความสามารถพิเศษจะมีแจ้งบอกว่าเป็นพรีเมี่ยม เลือกชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือจะเลือกผ่าน PayPal ก็ได้
ถ้าชำระผ่านเครือข่ายมือถือจะได้เฉพาะดีแทคเท่านั้นในตอนนี้
เริ่มต้นใช้งาน
เราสามารถดาวน์โหลดแอพฯมาติดตั้งในเครื่องของเราได้จาก Google Play และ Apple AppStore ได้ฟรี เมื่อติดตั้งมาแล้วแอพฯ จะให้เราสมัครสมาชิกเสียก่อน ง่ายที่สุดคือการใช้ Facebook ของเราสมัคร
ทั้งนี้เราจะไม่สามารถใช้งานแอพฯ ได้เลยถ้าไม่ทำการสมัครสมาชิก เนื่องจากแอพฯ จะเก็บข้อมูลว่าเราชอบเพลงแนวไหน จะได้นำเสนอเพลงที่ถูกใจกับเราให้ได้ และการนำเสนอโฆษณาที่ตรงกับเราด้วยหลังจากเลือกนักร้องไป 2-3 คนระบบก็จะจัดเพลงต้อนรับเราจากนักร้องที่เราเลือก และนักร้องแนวเพลงใกล้เคียง
ซึ่งทำงานเลือกจากกลุ่มฐานข้อมูลคนที่ฟังเพลงแนวนี้ จะต้องฟังเพลงนักร้องคนนี้ต่อหลังจากฟังเพลงนักร้องกลุ่มแรกจบ กลายเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่โดนใจผู้ฟังมาก เราสามารถกดฟังเพลง เลือกเพลงได้อย่างอิสระ เพราะการสมัครครั้งแรกจะได้ใช้งานฟรีไม่มีโฆษณาถึง 7 วัน และถ้าสมัครแบบเสียเงินจะได้ฟรี 30 วันแรกก่อนทำการคิดเงินจริง (ระบบจะมีการตัดเงินจำนวน $0.1 ไปก่อนหนึ่งครั้ง และคืนเงินให้ เพื่อยืนยันว่าบัตรเครดิตของเรานั้นใช้งานได้จริง ถ้ามียอดเข้ามาแปลกๆ ไม่ต้องตกใจเพราะจะมีคืนเงินให้ในเดือนถัดไป) สำหรับค่าบริการ และลูกเล่นที่ได้มีแจ้งเอาไว้แล้วในข้างต้น
หน้าจอแรกที่เจอคือหน้าจอลงทะเบียน ซึ่งจะต้องเลือกเอาว่าจะลงทะเบียนกับเฟสบุ๊คหรือใช้อีเมล์ เลือกล็อคอินผ่านเฟสบุ๊คจะต้องใส่รหัสผ่านใหม่ และกดยอมรับการใช้งาน เมื่อเข้าระบบแล้วเรียบร้อยก็จัดการสร้างบัญชีสำหรับการใช้งาน
เมื่อเข้าไปครั้งแรกจะต้องเลือกศิลปินที่เราชอบ แล้วเลือกไป 3-4 คนจนครบระบบจะทำการคำนวนเพลงจากศิลปินที่เราเลือกเป็นหลักมานำเสนอ แล้วระบบกำลังทำงานจัดเพลงให้เราครับ
ซึ่งหน้าจอหลักของแอพฯ รูปวงกลมจะเป็นศิลปิน/วงดนตรี ส่วนสี่เหลี่ยมจะเป็นอัลบั้ม หรือซิงเกิ้ลเพลง
การทำงานของระบบ
เป็นสิ่งที่อยากจะพูดถึงมากที่สุดหลังจากใช้งานก็คือรูปแบบการทำงานของแอพฯ ที่ไม่เหมือนใครมาก่อนนั่นคือการใช้ระบบติดตามศิลปินวงนั้นๆ ว่ามีความเคลื่อนไหว เพลงใหม่ อัลบั้มอะไรออกมาบ้าง หรือไปร่วมร้องกับนักร้องวงไหนก็จะถูกแท็กกลับมาด้วย และการติดตามเพื่อนของเราว่าใครฟังเพลงอะไรบ้างมีการโพสรายการเพลงอะไรบ้างเราสามารถเข้าไปฟังเพลงที่เพื่อนเราแชร์มาได้ตลอดเวลา (เฉพาะที่ตั้งใจแชร์รายการเพลงมา) ซึ่งระบบนี้เป็นสิ่งที่เราค่อนข้างคุ้นเคยมาจาก Social Network อยู่แล้วจึงทำให้การศึกษาใช้งานค่อนข้างง่าย เพลงไหนมีคนฟังเยอะก็จะมียอดผู้ฟังที่คล้ายๆ ยอด Like มาให้เราทราบว่าควรหามาฟังบ้างหรือเปล่า
เมื่อกดเข้าไปที่ศิลปินจะเห็นว่ามีปุ่มติดตาม/กำลังติดตาม เหมือนกับเรากด Likeเพจศิลปินนั้นๆ
กดที่เพลงเพื่อเปิดฟังเพลงนั้นได้ทันที
หรือจะดูว่ามีเพลงอะไรเล่นต่อ อยากเล่นเพลงไหนต่อจากเพลงนี้ก็ได้
ถ้าชอบเพลงไหนก็กดแชร์ไปจากหน้าเพลงนั้นๆ ได้ทันที
เขียนคำบรรยายเพลงที่เรากำลังแชร์ แค่นี้ก็โพสเข้าไปยังเฟสบุ๊คของเราแล้ว
นอกจากการจัดรายการเพลงจากศิลปิน และเพื่อนๆ เราแล้ว ทางแอพฯ ยังมีการจัดรายการเพลงขึ้นมาเพื่อให้เรากดฟังได้อย่างง่ายดาย โดยจะเป็นการจัดรายการเพลงตามช่วงต่างๆ เช่น เพลงก่อนนอน เพลงแดนซ์ที่บ้าน เพลงเช้าตอนตอน เพลงจิบกาแฟ เพลงเด็ก เพลงเก่าที่น่าฟัง เพลงเศร้าอกหัก อยากให้มีคนมาจีบ เพลงง้อแฟน ฯลฯ เยอะมากมายหลากหลายอารมณ์ให้เราได้เลือกเปิดฟังหรือแชร์ต่อไปยังเพื่อนๆ ได้ ระบบการจัดรายการเพลงนี้อยากให้เรานึกถึงสมัยเรามีตลับเทป อยากมอบเพลงให้ใครฟังก็จัดการอัดเพลงเป็นรายการต่อเรื่อยๆ จนหมดหน้าเทป จากนั้นก็เขียนรายการเพลง และออกแบบปกเอง ก็ทำงานเหมือนกันเลย แต่เป็นการจัดลงรายการแล้วแชร์ออกไป ใครจัดรายการเพลงเก่งๆ ก็จะมีคนมาติดตามรายการของเรามากขึ้นด้วย
การจัดรายการเพลงมีตั้งแต่ชาร์ตเพลงไปถึงกิจกรรมต่างๆ
รายการเพลงของร้านกาแฟ ก็มีให้เราเอามาเปิด
เลือกเพลงตามรูปแบบที่เราชอบ
เมื่อกดเข้าไปแล้วจะมีรายชื่อเพลง เราสามารถโหลดเพลงเก็บทั้งหมดของรายได้ทันที (พรีเมี่ยมเท่านั้น)
เพลงแบบนี้อาจจะโดนใจหลายคน
ระบบการค้นหาเพลงที่เยี่ยมยอด
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าประทับใจมากคือระบบการค้นหาเพลงที่ดีมาก การพิมพ์หาแต่ละตัวอักษรจะมีรายชื่อนักร้อง ชื่อเพลง อัลบั้ม ที่เกี่ยวข้องขึ้นมาให้เลย ไม่ต้องรอพิมพ์จนจบชื่อเพลงแล้วค่อยค้นหาแบบแอพฯ อื่นๆ ยิ่งถ้าเราพิมพ์ผิดไปบ้างระบบก็จับเอาเพลงที่น่าจะถูกต้องมาให้เราดูว่าใช่หรือเปล่า เมื่อค้นหาเจอแล้วก็กดเข้าไปเลือก ฟัง หรือว่าติดตามได้อย่างง่ายดาย เป็นการเข้าถึงเพลงต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมาก
ระบบการค้นหาที่หาง่ายมาก หาได้จากชื่อเพลง ชื่อนักร้อง ชื่อวง ชื่ออัลบั้ม ได้จากการหาครั้งเดียว
เมื่อหาเจอแล้วก็ทำการกดติดตาม กดเข้าไปฟังได้
นอกจากหาเพลงแล้วยังหาเพื่อนของเราได้ด้วย ว่าเขาชอบฟังเพลงอะไรบ้าง
กดติดตามเพื่อนพร้อมกับกดดูว่าเพื่อนชอบเพลงอะไร
แชร์ผ่าน QR ก็ได้นะ
การปรับแต่งที่เยอะมากๆ
นอกจากการฟังเพลงแล้ว Spotify ยังมีส่วนของการตั้งค่าซ่อนอยู่ในแอพฯ ที่ค่อนข้างหลากหลายการตั้งค่า และการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป เราสามารถเข้าไปส่วนการตั้งค่าโดยการมองหาไอค่อนรูปเฟืองอยู่มุมด้านบน เมื่อกดเข้าไปสิ่งแรกที่เราจะเห็นคือการสมัครสมาชิกแบบเสียเงิน (Premium) ซึ่งเราสามารถเข้าไปใช้งานกับทีวี เครื่องคอมพิวเตอร์ และลำโพงที่รองรับกับ Wi-Fi (เป็นลำโพงตระกูลสมาร์ทโฮมของยี่ห้อต่างๆ) การใช้งานแบบออฟไลน์ซึ่งปิดจากตัวแอพฯ เองเพื่อป้องกันการดึงข้อมูลเพลงในระหว่างที่เราออกไปข้างนอกบ้านแล้วต้องใช้งาน 4G ที่มีราคาแพง สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในการตั้งค่าคือการตั้งคุณภาพเสียงให้มีคุณภาพสูงสุดได้ (Hi-Res) เพื่อรับฟังเพลงที่มีความคมชัดสูงมาก และการดาวน์โหลดเพลงมาเก็บไว้ที่คุณภาพสูง ซึ่งถ้าเราสมัครพรีเมี่ยมเอาไว้แล้วแนะนำว่าดาวน์โหลดเพลงเก็บไว้ก่อนแล้วเปิดฟังแบบออฟไลน์จะได้เสียงที่คุณภาพสูงกว่า เพราะเมื่อเราต่ออินเตอร์เน็ตเมื่อไหร่ระบบจะไปดึงเพลงออนไลน์มาให้เราฟังทันที บางครั้งอินเตอร์เน็ตไม่นิ่งเราจะได้รับไฟล์เพลงคุณภาพต่ำกว่าลงมาระดับหนึ่งทันที
ระบบปรับแต่งที่มีให้เลือกว่าจะเล่นกับอุปกรณ์อะไรบ้าง
การใช้งานแบบออนไลน์มีให้เราเลือกในหน้านี้
ปรับคุณภาพเสียงสูงสุด และการปรับ EQ เพลงได้ด้วย
เมื่อเปิดเพลงจะมีแผงควบคุมขึ้นมาให้ใช้งานในบาร์ด้านบน
ใช้งานบนคอมพิวเตอร์ก็สะดวก
นอกจากการใช้งานเป็นแอพฯ แล้วยังสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมมาใช้งานบนคอมพิวเตอร์ได้ด้วย ข้อดีของการใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์คือหน้าจอของโปรแกรมนั้นใหญ่กว่า เห็นข้อมูลต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน กดเลือกเพลง จัดรายการเพลง ปรับแต่ง ลบ ทำได้อย่างง่ายดายมาก และที่สำคัญเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่สามารถขับเสียงออกมาได้ดีกว่าสมาร์ทโฟน ด้วยการ์ดเสียงแยกออกมาได้ แถมยังต่อลำโพงไปได้อีก ท่านไหนมีอุปกรณ์ที่ค่อนข้างพร้อมแนะนำว่าใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องเล่นเพลงไปเลยจะดีกว่ามาก
แอพฯ อื่นๆ ที่ให้บริการเพลงออนไลน์ด้วยเหมือนกัน
นอกจากการฟังเพลงผ่าน Spotify แล้วยังมีแอพฯ ที่ให้บริการก่อนหน้าในประเทศไทยด้วย เช่น
Apple Musicสามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ได้แล้วไม่ต้องยึดติดกับไอโฟนอีกต่อไป แอพฯ นี้เปิดโอกาสให้เราสมัครแล้วใช้บริการได้ฟรี 3 เดือน เพลงส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงฮิตทั่วไป มีเพลงไทยอยู่มากที่สุดในบรรดาทุกแอพฯเพราะ Apple นั้นประสบความสำเร็จในการดีลเพลงกับค่ายเพลงดังๆ ในไทยมาได้ทั้งหมด ทั้ง RS, GMM จึงทำให้เราได้เปิดฟังเพลงเก่าๆ ได้แทบจะครบถ้วน
JOOXเป็นบริการที่มาทำตลาดในประเทศไทยมานานแล้ว มีการจัดรายการเพลงไทยค่อนข้างดี มีเพลงไทยให้เลือกอยู่เยอะมาก มีข่าวสารของเพลง วิทยุ และวิดีโอของเพลงต่างๆ ให้เราเลือกชมอยู่มากมาย และมีระบบ VIP ที่มีเพลงความละเอียดสูงให้เราเลือกฟังอีกด้วย ถ้านึกถึงเพลงไทยคงต้องยกให้ JOOX ที่มาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจังมาก
TIDALแอพฯ นี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นแอพฯ ที่สตรีมเสียงได้คุณภาพดีที่สุด ตัวแอพฯ เองก็แจ้งไว้แล้วว่าเพลงของที่นี่จะเน้นเรื่องของคุณภาพเสียงเป็นหลัก ราคารายเดือนก็ค่อนข้างแพงมากด้วย ถ้าใครมีสมาร์ทโฟนดีๆ ขับเสียงออกมาได้มีประสิทธิภาพมากอยากให้ลองมาฟังกับแอพฯ นี้ดูครับ ลูกเล่นทั้ง Hi-Fi DOLBY มีให้ครบถ้วน แต่ข้อเสียของแอพ TIDAL ก็มี นั่นคือไม่มีเพลงไทยให้ฟังเลยใคร
นี่ก็คืออีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้เราฟังเพลงจากบนสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย และถูกลิขสิทธิ์ ช่วยสนับสนุนศิลปินให้มีกำลังใจทำเพลงต่อไป แชร์ให้เพื่อนฟังได้ภาคภูมิใจว่าเราฟังเพลงแท้ๆ ไม่ใช่เพลงเถื่อนจากที่ไหนก็ไม่รู้ หน้าปกตรง ไฟล์เพลงชัดเจน ส่วนจะเลือกใช้บริการจากที่ไหน หรือจะเลือกสมัครทั้งหมดทุกบริการก็อยู่ที่ตัวเราว่าเหมาะกับเพลงแนวไหน แต่ Spotify ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้เลยครับ