SVOLT บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรีจากจีนเผยว่าสามารถพัฒนาแบตเตอรีลิเธียมชนิดที่ไม่ใช้โคบอลต์ และเข้าสู่ช่วงการผลิตจำนวนมากได้แล้ว
ปัจจุบันขนส่งมวลชนเป็นหนึ่งในการผลิตคาร์บอนที่ส่งขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด แต่การจะเปลี่ยนจากน้ำมันไปเป็นพาหนะไฟฟ้าก็ไม่ใช่เรื่องที่จะช่วยโลกได้มากนัก เนื่องจากแบตเตอรีในปัจจุบันนั้นเป็นแบตเตอรีลิเธียมไอออน ซึ่งต้องใช้สารประกอบที่เป็นโลหะหนักอย่างโคบอลต์ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานเด็กในการขุดเหมือง หรือการที่มีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของทั่วโลก อีกทั้งยังทำลายสภาพแวดล้อมโดยรอบเหมืองอีกด้วย ทำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลายรายทั่วโลกต่างหาทางคิดค้นแบตเตอรีที่ไม่ต้องใช้โคบอลต์ หรือโลหะหนักเป็นสารประกอบ
SVOLT เผยที่งานเฉิงตูมอเตอร์โชว์ว่าแบตเตอรีของตนนั้นมีความจุไฟ 82.5KWh สามารถพารถวิ่งได้ 373 ไมลส์ (ราวๆ 600 กิโลเมตร) ในการชาร์จแบตเตอรีหนึ่งครั้ง และยังสามารถเร่งเครื่องจากหยุดนิ่งไป 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ภายใน 5 วินาทีอีกด้วย โดยทาง SVOLT ระบุว่าแบตเตอรีของตนนั้นจะไปปรากฏอยู่ในรถยนตร์สำหรับประเทศจีน แต่ไม่ได้ระบุว่าเมื่อไหร่ หรือมีศักยภาพผลิตแบตเตอรีแบบปราศจากโลหะหนักนี้ได้มากแค่ไหน
ปัจจุบันเริ่มมีบางบริษัทและโรงงานที่สามารถผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออนแบบไม่ใช้โลหะหนักได้แล้วเหมือนกัน แต่ยังไม่สามารถผลิตจำนวนมากเพื่อตอบความต้องการของทั่วโลกได้ ตัวอย่างรถยนตร์ที่ใช้แบตเตอรีชนิดปราศจากโลหะหนักก็เช่น Tesla Model 3 รุ่นที่วางจำหน่ายในจีนจะใช้แบตเตอรีลิเธียมไอออนฟอสเฟตแทน โดยแบตเตอรีดังกล่าวเป็นผลงานการผลิตของ Contemporary Amperex Technology จากจีนนั่นเอง
เส้นทางการพัฒนาแบตเตอรีสีเขียวยังคงยาวไกล เนื่องจากแม้กระทั่งตัวลิเธียมเองนั้นก็ไม่ได้เป็นมิตรกับโลกใบนี้มากนัก อีกทั้งแบตเตอรีในปัจจุบันยังเสื่อมสภาพเร็ว และรีไซเคิลไม่ได้ สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตก็เป็นพิษและไม่สามารถทำให้สะอาดได้ คงต้องรอดูกันต่อไปว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถพัฒนาแบตเตอรีที่ทำให้โลกน่าอยู่มากกว่าเดิมในช่วงสิบปีต่อจากนี้ได้หรือไม่ครับ
ที่มา – Engadget