สัดส่วนภายนอก Nokia 301
ถึงโนเกียในช่วงนี้จะขยันออกมือถือจำพวกสมาร์ทโฟนในตระกูล Lumia เสียมากกว่า แต่มือถือฟีเจอร์โฟนก็ยังไม่หายไปจากตลาด ประกอบกับความนิยมในตัวแบรนด์โนเกียเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เวลานึกถึงมือถือทรงแท่งแบบมีปุ่มกดทีไรก็ยังคิดถึงโนเกียเป็นอันดับแรกๆ Nokia 301 ก็เป็นอีกตัวหนึ่งที่ยังเป็นฟีเจอร์โฟนที่ดูธรรมดาๆ แต่ความสามารถในรุ่นนี้เมื่อเทียบกับราคา นี่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ
ด้านหน้า มีลำโพงสนทนาอยู่ด้านบนสุด ถัดลงมาเป็นโลโก้โนเกีย หน้าจอแบบทีเอฟทีขนาด 2.4 นิ้ว ความละเอียด 240 x 320 พิกเซล แสดงผล 256,000 สี มีแผงปุ่มกดที่ประกอบด้วยปุ่มทิศทาง ปุ่มซอฟท์คีย์ 2 ปุ่มขนาบข้างซ้ายขวา ปุ่มรับสาย ปุ่มวางสายและเปิด-ปิดเครื่อง และปุ่มตัวเลข
ด้านขวา ไม่มีปุ่มใดๆ เลย
ด้านซ้าย เป็นช่องใส่หน่วยความจำภายนอกแบบไมโครเอสดีการ์ด สามารถเปลี่ยนได้เลยแม้เปิดเครื่อง
ด้านบน มีพอร์ตไมโครยูเอสบีสำหรับชาร์จแบตเตอรี่และทำหน้าที่อื่นๆ ที่ใช้สายไมโครยูเอสบี และช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม.
ด้านล่าง ไม่มีช่องหรือปุ่มใดๆ เลยเช่นกัน
ด้านหลัง จะเจอกับเลนส์กล้องดิจิตอลความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล ช่องลำโพงมัลติมีเดีย เมื่อแกะฝาหลังก็จะเจอกับแบตเตอรี่ความจุ 1,110 มิลลิแอมป์ และช่องใส่ซิมการ์ดขนาดปกติ
ภาพรวม หน้าตาอาจดูเรียบไปสักนิดสำหรับ Nokia 301 เพราะดีไซน์ยังเป็นทรงแท่งธรรมดาๆ แต่แลกมากับความจับถนัดกระชับมือ ปุ่มกดและตัวหนังสือใหญ่ใช้ได้ หายห่วงสำหรับผู้สูงอายุที่เกรงจะมองตัวเลขไม่เห็น แถมยังมีสีสันตัวเครื่องให้เลือกมากมายทั้งสีฟ้า สีชมพู สีเหลืองตัดดำ แต่สีเรียบๆ อย่างสีขาวสีดำก็ยังมีให้เลือกอยู่นะ
ชำแหละเครื่องใน
Nokia 301 เป็นฟีเจอร์โฟนพกพาง่าย ใช้งานง่ายตามแบบโนเกีย ถึงหน้าจอ 2.4 นิ้วของรุ่นนี้จะเล็กไปแล้ว แต่ก็เพียงพอกับฟังก์ชั่นในเครื่องที่ส่วนใหญ่ไม่ต้องพึ่งพาหน้าจอใหญ่ๆ ระดับสี่ห้านิ้ว หน้าตาอินเตอร์เฟซก็ยังปรับแต่งได้ทั้งธีมสี วอลเปเปอร์ ขนาดฟอนต์ในเครื่อง หน้าโฮมก็ตั้งค่าได้ว่าจะให้แสดงอะไรบ้าง ทั้งเวลา วันที่ เมนูลัด จะปรับเป็นเมนูอื่นๆ ก็ได้ตามใจเลย หรือปิดการตั้งค่านี้ก็ได้
กล้องดิจิตอลของรุ่นนี้มีความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล ถึงจะไม่มีแฟลชติดมาด้วย แต่ก็ทดแทนด้วยการปรับแต่งอื่นๆ ทั้งไวท์บาลานซ์, เอฟเฟ็คต์สี, ตั้งเวลาถ่ายภาพ ฯลฯ แต่ที่ไม่น่าเชื่อคือมีระบบถ่ายภาพตัวเองมาให้ด้วย เมื่อกล้องจับใบหน้าได้ก็จะถ่ายภาพให้เลย ส่วนการถ่ายวิดีโอจะมีการปรับแต่งที่คล้ายแต่น้อยกว่าการถ่ายภาพนิดนึง ถ่ายได้ความละเอียดเพียง 240 x 320 พิกเซล ไว้เผื่อเวลาไม่มีกล้องวิดีโอแล้วกันนะ
ส่วนความบันเทิงในตัวเครื่อง Nokia 301 มีทั้งเครื่องเล่นเพลง เครื่องเล่นวิดีโอ วิทยุเอฟเอ็มแสดงคลื่นความถี่ 1 จุดทศนิยม ถ้ามองเรื่องการเล่นเพลง วิดีโอ รุ่นนี้ก็ใช้งานได้ปกติ แต่ถ้าใช้งานดูวิดีโออาจลำบากเพราะหน้าจอเครื่องนี้มันเล็ก แต่วิทยุของรุ่นนี้สามารถอัดเสียงเก็บไว้ได้ด้วย เผื่อใครฟังเพลงโดนๆ จนอยากอัดเก็บไว้ ก็ช่วยได้
จุดเด่นที่น่าสนของรุ่นนี้คือ มีโปรแกรมแชทและโซเชียลมีเดียต่างๆ มาให้แบบจัดเต็มไม่แพ้สมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ เลย ทั้งวอทแอพ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ แค่ 3 ตัวนี้ก็พอแล้วจริงๆ เพราะใช้งานบน Nokia 301 อาจไม่ได้ใช้งานบ่อยๆ เพราะข้อจำกัดของคีย์บอร์ด แต่ก็พอเช็คข่าวเช็คอะไรได้แหละนะ ยิ่งรุ่นนี้รองรับ 3จี ความถี่ 900/2100 เมกะเฮิร์ตซ์ด้วยแล้ว เปิดอ่านอะไรก็เร็วปรู๊ดปร๊าด แถมรุ่นนี้ยังสามารถโหลดเกมและแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมได้จากโนเกียสโตร์ในตัวเครื่องอีก แหม ใครว่าเป็นฟีเจอร์โฟนแล้วจะโหลดแอพฯ เพิ่มไม่ได้
กูรูฟันธง
เป็นฟีเจอร์โฟนที่มีอะไรมากกว่าฟีเจอร์โฟนทั่วไปจริงๆ สำหรับ Nokia 301 ตัวนี้ เพราะความสามารถในเครื่องนี่ไม่ธรรมดาเลย เป็นได้ทั้งเครื่องมือต่างๆ เสริมความบันเทิง เป็นกล้องดิจิตอลก็ได้ หรือจะเล่นโซเชียลตามข่าว แชทกับเพื่อนเก๋ๆ ก็ยังได้ อยากเล่นอะไรก็มีโนเกียสโตร์ไว้ดาวน์โหลดแอพฯ อีกต่างหาก รุ่นนี้ใช้ได้ทั้งเป็นเครื่องหลักและเครื่องสำรอง ราคารุ่นนี้ก็เบาๆ เพียง 2,390 บาทเท่านั้นเอง
ข้อดี
1. ฟีเจอร์โฟนราคาประหยัด
2. กล้องดิจิตอลความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
3. วิทยุเอฟเอ็มอัดเสียงเก็บได้
4. ใช้งานแชท และโซเชียลมีเดียได้
5. ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมได้
6. รองรับ 3จี 900/2100 เมกะเฮิร์ตซ์
ข้อเสีย
1. หน้าจอเล็กไปสำหรับบางฟังก์ชั่น เช่น วิดีโอ
2. กล้องดิจิตอลไม่มีแฟลช
รูปหน้าจอ Nokia 301