Amazfit Bip U สมาร์ทแทร็คเกอร์ราคาประหยัดที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่รุ่นแรกๆ ด้วยราคาที่สมเหตุสมผล ราคาไม่แพง แต่ฟังก์ชั่นการใช้งานพื้นฐานเทียบเท่ากับสมาร์ทวอชราคาแพงได้เลย ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชั่นการออกกำลังกาย การแทร็คข้อมูลการเดิน, อัตราการเต้นของหัวใจ, การวัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) เป็นต้น มาดูกันว่าระดับราคาพันกว่าบาททำอะไรได้อีก
แกะกล่องลองเล่น Amazfit Bip U
กล่องของสมาร์ทแทร็คเกอร์รุ่นนี้ด้านหน้ามีรูปบ่งบอกสีสันของตัวเครื่องที่อยู่ด้านใน ส่วนด้านข้างจะบอกฟังก์ชั่นเด่นๆ ที่ทำได้ของรุ่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นขนาดหน้าจอ, รองรับการออกกำลังกายได้ 60 รูปแบบ, วัดระดับออกซิเจนในเลือด เป็นต้น และเมื่อแกะกล่องออกมาก็จะพบกับอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
- สมาร์ทแทร็คเกอร์ Amazfit Bip U สีเขียว
- สายชาร์จแบตเตอรี่
- คู่มือการใช้งาน
วัสดุ น้ำหนัก และการใช้งาน
Amazfit Bip U ที่เราได้มาทดสอบเป็นสีเขียว เมื่อสวมใส่บนข้อมือดูแล้วค่อนข้างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ วัสดุสายทำจากซิลิโคน สวมใส่สบาย ใส่แล้วไม่คัน ส่วนตัวเรือนทำจากวัสดุโพลีคาร์บอเนตสีเดียวกับสาย
หน้าจอแสดผลขนาด 1.43 นิ้ว เป็นจอภาพแบบ IPS ความละเอียด 302 x 320 พิกเซล กระจกหน้าจอเป็นโค้ง 2.5D เคลือบสารป้องกันรอยนิ้วมือ สามารถปรับระดับความสว่างได้ 4 ระดับเพื่อการมองเห็นชัดเจนในที่โล่งแจ้ง เลือกดาวน์โหลดและเปลี่ยนหน้าปัดได้จากแอพฯ Zepp ที่จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
ด้านหลังมีเซ็นเซอร์ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ มีไฟ LED สีเขียว 2 ดวงคอยตรวจจับอยู่ และในวงกลมสีดำนี้ก็ยังมีจุดเล็กๆ 2 จุดสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ ซึ่งบริเวณนี้เป็นแม่เหล็กดูดแป้นชาร์จด้วย
ปุ่มเปิดปิดเครื่อง หรือปุ่มเมนูอยู่ที่ด้านข้างขวาของตัวเรือน และยังทำหน้าที่เป็นปุ่มลัดสำหรับเข้าสู่เมนูการออกกำลังกายโดยการกดปุ่มค้างไว้ประมาณ 2 วินาทีได้อีกด้วย
สายนาฬิกาเป็นแบบสลักล็อคกับตัวเรือน สามารถถอดเปลี่ยนเองได้ง่ายๆ
ทำงานร่วมกับแอพฯ Zepp
จากเดิม Amazfit จะทำงานร่วมกับแอพฯ Mi Fit แต่สำหรับรุ่นนี้เปลี่ยนมาใช้แอพฯ Zepp มีให้ดาวน์โหลดทั้งระบบปฏิบัติการ Android และ iOSหน้าตาแอพฯ ถูกปรับเปลี่ยนให้ดูทันสมัยมากยิ่งขึ้น สำหรับการใช้งานครั้งแรกก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่เปิดนาฬิกา แล้วเปิดแอพฯ Zepp เริ่มแรกจะต้องสมัคร Account ก่อน แต่หากมี Account อยู่แล้วก็สามารถเข้าสู่การใช้งานได้ทันที และเมื่อเชื่อมต่อสำเร็จ อาจจะมีการอัพเดท Firmware ประมาณ 5-10 นาทีก็ใช้งานได้
การใช้งาน Zepp จะช่วยให้เราดูข้อมูลต่างๆ ที่ตัวสมาร์ทแทร็คเกอร์เก็บข้อมูลได้ละเอียดขึ้น ซึ่งการเชื่อมต่อจะอาศัย Bluetooth ในการส่งข้อมูลไปยังสมาร์ทโฟน และยังส่งการแจ้งเตือนต่างๆ ไปที่นาฬิกาด้วย นอกจากนี้ยังใช้ตั้งค่าต่างๆ ของนาฬิกาได้สะดวกขึ้น
ข้อมูลที่เราสามารถดูได้ก็มีทั้งข้อมูลการก้าวเดินในแต่ละวัน, อัตราการเต้นของหัวใจ, ระดับออกซิเจนในเลือด, ระดับความเครียด, ข้อมูลการนอนในแต่ละวัน นอกจากนี้ยังสามารถดูข้อมูลอื่นๆ ได้โดยอาศัยอุปกรณ์อื่นๆ ของ Xiaomi เช่น Mi Scale หรือสมาร์ทวอชรุ่นอื่นๆ ที่สามารถเก็บข้อมูลอื่นๆ ได้ อย่างเช่นน้ำหนัก มวลกล้ามเนื้อ ค่า BMI ฯลฯ ช่วยให้เรานำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้ว่าในแต่ละวัน หรือแต่ละช่วงเวลาเราเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไร สามารถนำมาปรับการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้
สำหรับหน้าปัดนาฬิกาเราสามารถดาวน์โหลดได้ที่ Watch Face Store มีให้เลือกมากกว่า 100 แบบ ทั้งแบบเข็ม แบบดิจิตอล เลือกเปลี่ยนได้ไม่ซ้ำวัน แต่หน่วยความจำเครื่องสามารถบันทึกหน้าปัดนาฬิกาได้สูงสุด 4 แบบ หากต้องการแบบใหม่ก็ต้องเลือกลบหน้าปัดเก่าทิ้งไปก่อนจึงจะดาวน์โหลดแบบใหม่ได้
Amazfit Bip U วัดอะไรได้บ้าง
สมาร์ทแทร็คเกอร์รุ่นนี้มีเซ็นเซอร์ต่างๆ มากมาย โดยฟีเจอร์พื้นฐานอย่างการเก็บข้อมูลก้าวเดิน อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการเผาผลาญแคลอรี่ในแต่ละวันสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่จุดเด่นของรุ่นนี้ยังสามารถตรวจจับและเก็บข้อมูลการออกกำลังกายได้มากกว่า 60 แบบ และยังมีฟีเจอร์อื่นๆ ที่สามารถตรวจวัดได้ในนาฬิการหลักพันบาทมีดังนี้
- วัดระดับออกซิเจนในเลือด หรือค่า SpO2 มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ เป็นการวัดระดับค่าออกซิเจนในเม็ดเลือด ซึ่งค่าที่วัดได้ตามปกติจะอยู่ที่ 95% หรือมากกว่า แต่หากวัดตอนนอนจะอยู่ที่ 90% หรือมากกว่า ซึ่งการวัดค่าจะใช้เวลาประมาณ 1 นาที
- ระดับความเครียด (Stress) โดยการวัดค่าความเครียดจะอาศัยค่าอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งหากมีอัตราการเต้นสูง ก็จะทำให้ค่าความเครียดสูงตามไปด้วย
- PAI (Personal physiological Activity Indicator) หรือคะแนนการทำกิจกรรมต่างๆ โดยอ้างอิงจากอัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งหากเราทำกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้หัวใจเราเต้นเร็ว อย่างเช่นการเดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน เล่นโยคะ หรือเล่นกีฬา ทำกิจกรรมอื่นๆ สมาร์ทแบนด์ก็จะทำการบันทึกค่าระยะเวลาการทำกิจกรรม โดยแต่ละสัปดาห์ควรจะทำให้ได้ถึง 100 PAI หรือมากกว่า ซึ่งเป็นค่าที่เหมาะสมในการออกกำลังกายในแต่ละสัปดาห์
- คุณภาพการนอนหลับ เราสามารถดูระยะเวลาการนอนหลับของเราคร่าวๆ ได้จากหน้าปัดนาฬิกา แต่หากต้องการดูข้อมูลการนอนหลับแบบละเอียดสามารถเปิดแอพฯ ดูได้ และยังมีระบบการให้คะแนนการนอนหลับในแต่ละคืนด้วยโดยอิงจากระดับการนอนหลับ ซึ่งสามารถตรวจจับได้ตั้งแต่ Deep Sleep, Light Sleep, REM และ Awake หากหลับลึก หลับนานก็จะได้คะแนนสูง แต่หากตื่นบ่อยก็จะได้คะแนนน้อย
สรุปการใช้งาน Amazfit Bip U จากความเห็นของ What Phone
จากการใช้งานประมาณ 2 สัปดาห์กว่าๆ รวมไปถึงการใส่นอนตลอด 24 ชั่วโมงพบว่าสมาร์ทแทร็คเกอร์รุ่นนี้สวมใส่สบาย น้ำหนักเบา ไม่อึดอัด จอแสดงผลสีสันสวยงาม เห็นได้ชัดเจนในที่โล่งแจ้งสามารถใส่ได้ตลอดเวลาแม้กระทั่งอาบน้ำ เพราะสามารถกันน้ำได้ลึกถึง 5 เมตร ถือเป็นสมาร์ทแทร็คเกอร์ที่มีฟังก์ชั่นเกินราคาพันกว่าบาทมากๆ ไม่จำเป็นต้องซื้อสมาร์ทวอช หรือสมาร์ทแทร็คเกอร์แพงๆ เลย จะขาดก็เพียงระบบ GPS ที่จะต้องพกสมาร์ทโฟนไปด้วยขณะออกกำลังกาย จึงเหมาะกับผู้ใช้ที่ไม่ได้เน้นการออกำลังกายที่จริงจัง เพียงแค่ต้องการเก็บข้อมูลการเคลื่อนไหวในแต่ละวันเพื่อที่จะนำมาปรับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของเรา
สำหรับระยะเวลาการใช้งานโดยปกติแล้วจะใช้แบตเตอรี่เพียงวันละ 10% ซึ่งก็จะได้ประมาณ 10 วัน ได้มากกว่าสเป็คที่ระบุไว้เพียง 9 วัน แต่หากใช้งานหนักๆ อย่างเช่นออกกำลังกาย หรือดาวน์โหลดหน้าปัดเล่นบ่อยๆ ก็อาจจะทำให้ระยะเวลาการใช้งานสั้นลง โดยรวมแล้วสมาร์ทแทร็คเกอร์ในราคาเพียง 1,590 บาท ถือว่าคุ้มค่ามากๆ เมื่อเทียบกับฟังก์ชั่นที่ได้
สรุปสเป็ค
- ขนาด น้ำหนัก 40.9 x 35.5 x 11.4 มม, 31 กรัม (รวมสาย)
- กันน้ำลึกระดับ 5 ATM
- จอแสดผลขนาด 1.43 นิ้ว จอภาพแบบ IPS LCD, ความละเอียด 302 x 320 พิกเซล
- เซ็นเซอร์ BioTracker™ 2 PPG Biological Optical Sensor, Acceleration sensor, Gyroscope sensor
- เชื่อมต่อด้วย Bluetooth 5.0/BLE
- แบตเตอรี่ Li-Ion Polymer 230 mAh
- รองรับระบบปฏิบัติการ Android 5.0 และ iOS 10.0 ขึ้นไป
- มี 3 สี ดำ, เขียว, ชมพู