Social Update

ร้องเพลง Cover เผยแพร่บน Youtube ผิดลิขสิทธิ์หรือไม่?

เน็ตไอดอลหลายๆ คนมีชื่อเสียงก็มาจากการทำคลิป ร้องเพลง Cover เพลงฮิตจนมีคนกด Like เป็นล้าน คนตามเป็นแสน ว่าแต่แบบนี้ถือเป็นการผิดลิขสิทธิ์หรือไม่?

ปัจจุบันใน Youtbe เราจะเห็นว่ามีหลายคนที่นำเพลงดังเพลงฮิตมาร้องเพลงอัดเสียงของตัวเองแล้วเผยแพร่บน Youtube ของตัวเอง ที่เรียกว่า “ร้องเพลง Cover” เน็ตไอดอลหลายๆ คนที่มีชื่อเสียงก็มาจากการทำคลิปร้อง Cover เพลงจนมีคนกด Like เป็นล้าน คนตามเป็นแสน

แต่หลายคนก็มีข้อสงสัยว่า แล้วการกระทำแบบนี้จะเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหรือไม่ ทางหน้าแฟนเพจของ CSI ThaiElaws ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับด้านกฎหมาย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ

Cover Song: เสียงของฉัน ลิขสิทธิ์ของใคร
ณ ปัจจุบัน กระแสที่กำลังฮิตของในโลกออนไลน์อย่างหนึ่ง คือ การคัฟเวอร์เพลง หรือ การนำเพลงของศิลปินมาร้องใหม่ในสไตล์ของตัวเอง อัดคลิป และอัพโหลดลงโซเชียลมีเดียชื่อดัง เช่น YouTube หรือ Facebook กระแสคัฟเวอร์เพลงส่งผลให้คลิปคัฟเวอร์เป็นที่นิยม บางคลิปมียอดวิวสูงกว่ามิวสิกวีดีโอของศิลปิน และยังสร้างชื่อเสียงให้นักร้องคัฟเวอร์คนนั้นเสียด้วย แต่รู้หรือไม่การคัฟเวอร์เพลงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นะ!

คัฟเวอร์เพลง = ละเมิดลิขสิทธิ์
“เพลง” เป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ผู้ใดนำเพลง มาทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่สู่สาธารณะชน ย่อมถือเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์
ดังนั้น การร้องเพลงคัฟเวอร์ ถ่ายวีดีโอ และนำไปเผยแพร่ จึงเป็นทั้งการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่สู่สาธารณะชนซึ่งเพลงอันเป็นลิขสิทธิ์ของศิลปินหรือค่ายเพลง ผู้คัฟเวอร์จึงมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27

คลิปของฉัน ‪#‎ลิขสิทธิ์ของฉัน‬
คลิปคัฟเวอร์ที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียมีหลายลักษณะ บางคลิปเป็นการถ่ายวีดีโอขณะตนกำลังเล่นดนตรีและร้องเพลงในห้อง บางคลิปถ่ายในห้องอัดเสียง บางคลิปถ่ายนอกสถานที่ ไล่ระดับไปเรื่อยๆ จนบางคลิปถึงขั้นมีการตัดต่อใส่เรื่องราวคล้ายเป็นมิวสิกวีดีโอขึ้นมาใหม่ ซึ่งทุกๆ คลิป จะมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือ คลิปนั้นๆ ผู้คัฟเวอร์เป็นผู้ขับร้อง ถ่ายทำ รวมถึงตัดต่อขึ้นมาเอง แต่รู้หรือไม่ คลิปนั้นไม่ถือเป็นลิขสิทธิ์ของผู้คัฟเวอร์นะ!

เงื่อนไขหนึ่งของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ คือ การริเริ่มด้วยตนเอง (Originality) ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น แม้คุณจะขับร้องด้วยเสียงของคุณเอง หรือคุณเป็นผู้เรียบเรียงดนตรีใหม่ ถ่ายทำและตัดต่อคลิปคัฟเวอร์ขึ้นด้วยฝีมือของคุณเอง แต่ในเมื่อเพลงที่นำมาร้องเป็นลิขสิทธิ์ของผู้อื่นซึ่งคุณไม่ได้รับอนุญาตให้นำมาคัฟเวอร์แล้ว คลิปนั้นก็ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของคุณอยู่ดี

คัฟเวอร์เพลงอย่างไรให้ถูกลิขสิทธิ์
การคัฟเวอร์เพลงให้ถูกลิขสิทธิ์ ผู้คัฟเวอร์จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนั้นๆ ก่อน โดยต้องเข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิพร้อมทั้งจ่ายค่าสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งตามนโยบายทั่วไปของค่ายเพลงในประเทศไทย ศิลปินและนักแต่งเพลงจะทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ให้ค่ายเพลงโดยได้รับค่าตอบแทน ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จึงได้แก่ ค่ายเพลง

การคัฟเวอร์เพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์จึงเริ่มจากการตรวจสอบว่าเพลงที่ต้องการคัฟเวอร์อยู่ในสังกัดของค่ายเพลงใด จากนั้นให้ติดต่อไปยังค่ายเพลงนั้น สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิและค่าสิทธิ และเข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและชำระค่าสิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยแต่ละค่ายเพลงก็จะมีนโยบายการอนุญาตให้ใช้สิทธิต่างกันไป

ทำไมคลิปคัฟเวอร์ถึงเพลงยังมีอยู่มากมายบน YouTube
ถึงแม้ว่าการคัฟเวอร์จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่คลิปคัฟเวอร์ก็ยังคงปรากฏอยู่มากมายบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเว็บไซต์ YouTube สาเหตุหลักมาจากเหตุผลทางการตลาด การมีผู้คัฟเวอร์เพลงหลายรายบ่งบอกได้ว่าเพลงนั้นเป็นที่นิยมมาก และยิ่งมีคลิปคัฟเวอร์มาก ก็จะเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์และกระตุ้นยอดขายของค่ายเพลงให้ดีขึ้นได้ด้วย

นอกจากนี้ YouTube มีระบบ Content ID ซึ่งเป็นบริการสำหรับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการเลือกให้จัดการกับวีดีโอที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของตน โดยเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถเลือกบล็อกวิดีโอไม่ให้สามารถดูได้ (Block) ปิดเสียงที่ตรงกับดนตรีของเจ้าของลิขสิทธิ์ (Mute) หรือ สร้างรายได้จากวิดีโอโดยการเล่นโฆษณาบนวิดีโอ (Monetize) คลิปคัฟเวอร์จึงเป็นหนทางสร้างรายได้ให้แก่ค่ายเพลงอีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้การคัฟเวอร์จะเป็นผลดีแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในแง่การตลาดและการสร้างรายได้ค่าโฆษณาผ่านระบบของ YouTube แต่ผู้เขียนย้ำขอให้นักร้องคัฟเวอร์ทั้งหลายอย่างลืมว่า การคัฟเวอร์เพลงยังคงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิอยู่เช่นเดิม หากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องการจะฟ้องร้อง เค้าย่อมใช้สิทธิของเค้าได้ ดังนั้น คุณก็ควรทำให้การคัฟเวอร์ของคุณถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์โดยการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นะ

สรุปก็คือการเอาเพลงมาร้อง Cover แล้วเผยแพร่ใน Youtube โดยที่ไม่ได้ทำการขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ในแง่ของกฎหมายแล้วถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเจ้าของมีสิทธิที่จะสามารถฟ้องร้องได้ (ถ้าต้องการ)

ร้องเพลง Cover

ข้อมูลจาก : CSI ThaiELaws

To Top

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณและสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • GA

    Google Analytic

Save