เชื่อได้ว่าผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนหลายๆ ท่านมักจะหยิบสมาร์ทโฟนของคุณขึ้นมาถ่ายรูปมากกว่าจะหยิบจับกล้องดิจิตอลขึ้นมาเสียอีก เพราะสมาร์ทโฟนนั้นอยู่กับคุณแทบจะตลอดเวลา และยุคสมัยนี้กล้องที่ติดมานั้นเรียกได้ว่าไม่ได้ขี้เหร่เหมือนแต่ก่อนแล้ว ความละเอียดต่ำๆ อย่างน้อยก็ 5 ล้านพิกเซลแล้วสำหรับรุ่นล่างๆ ยิ่งรุ่นบนๆ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องคุณภาพกันเลย ออกมาดีอย่างแน่นอน นอกจากนี้ก็ยังมีแฟลชแอลอีดีมาให้ใช้งานกับแทบทุกรุ่นแล้วด้วย
บทความนี้จะบอกแนวทางการถ่ายภาพจากกล้องของสมาร์ทโฟนให้ออกมาดี พร้อมกับแนวทางที่จะทำให้คุณได้ลองถ่ายรูปแนวใหม่ๆ เพิ่มเติมจากการยกสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายรูปภาพทั่วๆไป เริ่มกันเลยครับ
- จับสมาร์ทโฟนให้มั่น มือให้นิ่ง
การที่เราจับสมาร์ทโฟนในการถ่ายรูปให้นิ่งนั้น จะช่วยให้ได้รูปภาพที่มีความคมชัดมาก เมื่อกดชัตเตอร์ถ่ายรูปภาพก็ไม่ควรกระแทกหรือทัชหน้าจอแรงเกินไป จะทำให้ตัวกล้องสั่นและรูปภาพที่ออกมาจะเบลอ
การใช้สมาร์ทโฟนถ่ายรูปนั้น หากเป็นแนวนอนควรจะใช้มือทั้ง 2 ข้างในการจับสมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้รูปภาพที่ออกมานั้นนิ่งกว่า หรือหากมีอุปกรณ์เสริมในการช่วยพยุงให้นิ่งก็จะดีมาก โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน ความนิ่ง ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
- เข้าใกล้กว่าเดิม
เทคนิคนี้คือการถ่ายภาพให้ใกล้กว่าเดิม โดยเราต้องถือสมาร์ทโฟนให้ใกล้วัตถุมากที่สุด เพราะจะช่วยให้ตัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป และยังทำให้วัตถุในภาพนั้นเด่นขึ้นมาอีกด้วย ลองถ่ายรูปภาพด้วยการเน้นสิ่งที่ต้องการจะทำให้ภาพถ่ายน่าสนใจขึ้น ซึ่งทำให้รูปที่ออกมานั้นจะได้มุมที่ถูกใจ และการถ่ายรูปภาพไม่ควรจะต้องสนใจว่าองค์ประกอบของภาพจะครบถ้วนในเฟรมหรือไม่ แต่ข้อควรระวังก็คือการเข้าใกล้วัตถุมากเกินไป จะทำให้ไม่สามารถโฟกัสได้
- เลือกจุดโฟกัส
การเลือกจุดโฟกัสถือเป็นจุดสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ กล้องดิจิตอลสมาร์ทโฟนสมัยนี้ถึงแม้จะมีระบบโฟกัสอัตโนมัติที่ช่วยให้รูปภาพของเราคมชัดก็ตาม แต่การเลือกจุดโฟกัสเองจะช่วยให้รูปภาพของเรานั้นโดดเด่นและสวยงามขึ้นด้วย โดยเฉพาะการเน้นวัตถุ
ซึ่งการเลือกจุดโฟกัสในสมาร์ทโฟนก็ทำการจิ้มลงไปที่หน้าจอให้ตรงกับวัตถุที่เราต้องการให้ชัด และถ้าสมาร์ทโฟนรุ่นไหนที่ตัวกล้องมีค่ารูรับแสงกว้างๆ ก็จะยิ่งทำให้ส่วนอื่นๆ เบลอไปหมด จะทำให้วัตถุที่เราต้องการนั้นโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก การเลือกจุดโฟกัสก็จะทำให้เราเลือกได้ว่าจะให้ ชัดหน้าหลังเบลอ หรือ หน้าเบลอหลังชัดได้
- การใช้แฟลช
การถ่ายรูปภาพในที่มีแสงสว่างเพียงพอ บวกกับการจัดแสงที่ดีจะทำให้รูปภาพที่ออกมานั้นดูมีสีสันและน่าสนใจมากขึ้น แต่ในบริเวณที่มีแสงน้อย โดยเฉพาะการถ่ายภาพในร่ม แฟลชที่มีมากับกล้องจะช่วยเพิ่มแสงสว่าง จะลบเงาและทำให้ภาพมีสีสันสดใสขึ้น หรือจะช่วยให้จับภาพเคลื่อนไหวให้นิ่งและคมชัดมากขึ้น แต่การถ่ายภาพระยะใกล้แล้วเปิดแฟลชนั้น ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้วัตถุสะท้อนแสงมากเกินไป อาจจะทำให้รูปภาพเบลอหรือดูไม่ออกว่าคุณถ่ายรูปอะไรออกมา
สมาร์ทโฟนแทบจะทุกรุ่นในสมัยนี้จะติดไฟแฟลชแอลอีดีมาให้ รุ่นใหม่ๆ อาจจะมีไฟแฟลชแบบทรูโทนเพื่อปรับสมดุลของแสงจากไฟแฟลชให้ไม่ขาวซีดจนเกินไป ดังนั้นเมื่อติดมา และมีโอกาสก็ควรลองใช้งานกันดู จะได้เข้าใจแฟลชของสมาร์ทโฟนของคุณมากขึ้น เพิ่มหนทางในการถ่ายรูปของคุณได้อีกหนึ่งหนทาง
- อดทนรอ
ในบางจังหวะช่วงสั้นๆ ก็ควรค่าแก่การอดทนรอจนได้ภาพที่ต้องการ การถ่ายภาพที่วัตถุเคลื่อนไหวนั้นจะต้องทำการคำนวณการดีเลย์ของชัตเตอร์ไว้ล่วงหน้า ว่าจังหวะที่เราต้องการนั้นจะเป็นอย่างไร ต้องอดทนรอให้ถึงจังหวะที่ต้องการและกดชัตเตอร์ถ่ายภาพออกไป
การแก้ปัญหาดีเลย์ในการถ่ายรูปภาพเคลื่อนไหวนั้น เราควรจะเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพต่อเนื่อง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีฟีเจอร์นี้ให้ใช้งานกันแทบจะทุกรุ่นแล้ว จะช่วยให้เราเก็บช่วงจังหวะของการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น แล้วทำให้เรามาเลือกจังหวะที่ต้องการได้ในภายหลังอีกด้วย
- ลอง ไวท์ บาลานซ์ หรือ ฟิลเตอร์ เพื่อประสบการณ์ใหม่ๆ
รูปภาพจากกล้องดิจิตอลสมาร์ทโฟนในสมัยนี้มีคุณภาพไฟล์ที่ดี มีสีสันสมจริงมากขึ้น แต่การเลือกใช้ ไวท์ บาลานซ์ หรือ ฟิลเตอร์ ในขณะถ่ายรูปภาพ จะช่วยให้คุณได้รูปภาพที่มีสีสันที่ต่างจากเดิมออกไป ทำให้สื่ออารมณ์ของรูปภาพได้หลากหลายมากขึ้น
- พาโนรามาแนวตั้งดูบ้าง
หลายๆ ท่านมักจะใช้งานโหมดพาโนรามาเพื่อถ่ายรูปแนวยาวในแนวตั้ง ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง ถ่ายรูปภาพพาโนรามาในแนวตั้งกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นพาโนรามาตั้งขึ้น หรือ พาโนรามาดิ่งลง ก็จะทำให้คุณได้รูปภาพแนวใหม่ๆ ที่น่าสนใจมากขึ้น
- ใช้แสงเงาให้เป็นประโยชน์
ในสตูดิโอมักจะมีการจัดแสงจัดไฟ เพื่อให้ได้ความสว่างตามต้องการ แต่การถ่ายรูปภาพทั่วไป เราต้องอาศัยแสงตามธรรมชาติ ซึ่งเราก็สามารถนำแสงจากธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ในการถ่ายรูป โดยอาศัยแสงเงาตกกระทบวัตถุ ซึ่งการที่มีแสงพาดลงมาที่วัตถุก็จะให้อารมณ์ดิบๆ ไปอีกแบบ
- ถ่ายย้อนแสง
ถึงแม้การถ่ายย้อนแสงจะทำให้หลายท่านไม่ชอบ เพราะจะทำให้ใบหน้าของเรานั้นมืด แต่การถ่ายย้อนแสงกับวิวทิวทัศน์ในตอนพระอาทิตย์ขึ้น หรือพระอาทิตย์ตก จะช่วยให้สื่อถึงอารมณ์ได้มากขึ้น และในบางรูปเพิ่มฟิลเตอร์หรือปรับไวท์บาลานซ์เข้าไปตามที่ได้แนะนำไปในช่วงต้น ก็ยิ่งทำให้รูปภาพนั้นโดดเด่นมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากรายละเอียดวัตถุที่เป็นเงาอยู่ด้านหน้านั่นเอง
- เพิ่มเติมด้วยแอพพลิเคชั่นแต่งรูปภาพ
หลังจากที่ถ่ายรูปภาพออกมาแล้ว อยู่ๆ ก็เกิดไอเดียปิ้งขึ้นมาว่าอยากจะให้รูปภาพที่ถ่ายออกมานั้นเป็นโทนขาวดำ แน่นอนว่าแอพพลิเคชั่นแต่งรูปภาพนั้นมีให้เลือกใช้งานมากมาย ดังนั้น เราก็เลือกแอพพลิเคชั่นที่ต้องการได้เลย แต่ถ้าถามว่าผู้เขียนชอบใช้แอพฯ ไหน ก็คงจะหนีไม่พ้น Snapseed และ FotoRus ที่สามารถใส่ข้อความลงในรูปภาพได้ เติมเต็มอารมณ์กับรูปภาพได้มากขึ้น
การถ่ายรูปภาพนั้นไม่มีถูก ไม่มีผิด ขอแค่เรามีความสุขกับการบันทึกความทรงจำต่างๆ และถ่ายทอดออกมาให้เพื่อนๆ ได้เห็นและได้รับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความสุข จากเราก็เพียงพอแล้ว