Samsung คว้า 3 รางวัลด้านความยั่งยืน ประเดิมทศวรรษใหม่ สะท้อนความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของแบรนด์ในการนำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิล (recycle) และอัพไซเคิล (upcycle) รวมถึงการดำเนินงานในการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน จากงานประกาศรางวัลการจัดการวัสดุอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน (Sustainable Materials Management (SMM) Electronics Challenge awards) ประจำปี 2019 จัดโดยสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ หรือ อีพีเอ (the US Environmental Protection Agency – EPA) และยังได้รับรางวัลชนะเลิศด้านการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจากเวที CES 2020
งาน SMM Electronics Challenge โดยอีพีเอ จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นเวทีมอบรางวัลประจำปีเพื่อเชิดชูบริษัทต่างๆ ในสหรัฐที่มุ่งมั่นในการจัดการวัสดุอย่างยั่งยืน และรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้อย่างมีความรับผิดชอบ โดยบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่เข้าร่วมโครงการรีไซเคิลต่างๆ โดยสมัครใจ รางวัลแบ่งเป็นสองประเภทได้แก่ Champion Award สำหรับสินค้าและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ Tier Award สำหรับกิจกรรมรีไซเคิลต่างๆ ซึ่งซัมซุงได้รับรางวัลทั้งสองประเภทในปีนี้
สำหรับรางวัลประเภท Champion Award ซัมซุงได้รับรางวัลด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย (Cutting-Edge Award) เป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่มีการคิดค้นรางวัลด้านนี้ขึ้นในปี 2559 โดยรางวัลนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกย่องบริษัทและแบรนด์ต่างๆ ที่คิดค้นไอเดียสร้างสรรค์ในการจัดการวัสดุอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน ซัมซุงได้รับรางวัลนี้จากโครงการ Galaxy Upcycling โครงการที่นำโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างประโยชน์ให้กับสังคม
โครงการ Galaxy Upcycling เป็นการนำโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช้งานแล้วมาพัฒนาเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ท (IoT) ช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชุมชุมต่างๆ ที่ขาดโอกาสจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2560 โครงการนี้ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยด้านการแพทย์เกาหลีและซัมซุง ได้นำชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนที่ไม่ใช้แล้วมาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดสายตาแบบพกพา โดยโครงการนี้ได้รับรางวัล SMM Cutting-Edge Award เป็นครั้งแรกในปี 2560 และในปีที่ผ่านมาโครงการนี้สามารถแจกจ่ายเครื่องออพธัลโมสโคป (เครื่องตรวจการทำงานของจอตาและขั้วประสาทตา) แบบพกพาจำนวน 90 เครื่องให้กับประเทศเวียดนาม โดยมีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนกว่า 14,000 คน
นอกจากนั้นซัมซุงยังได้รับรางวัลเหรียญทองประเภท Tier Award ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้แก่บริษัทที่ส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้แล้วจำนวนร้อยละ 96 ไปให้กับบริษัทรีไซเคิลที่ได้รับการรับรอง และซัมซุงได้รับการยอมรับด้านการเก็บรวบรวมและรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 60,000 ตันในปี 2561 พร้อมร่วมทำสัญญากับเฉพาะผู้ค้าที่ได้รับการรับรองจาก e-Stewards ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ได้รับการรับรองการจัดการรีไซเคิลอุกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้บริษัทยังเข้าร่วมกิจกรรม eCycling ที่เป็นกิจกรรมอาสาเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์สำหรับบริษัทต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมเทคโนโลยีผู้บริโภค หรือ ซีทีเอ (Consumer Technology Association (CTA))
กล่องบรรจุภัณฑ์สามารถนำมาประยุกต์เป็นโต๊ะหรือชั้นวางของขนาดเล็ก หรือบ้านแมวได้ เพียงทำตามหนังสือคู่มือที่มีให้ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดที่อยู่บนกล่อง
ในเวที CES 2020 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองลาสเวกัสรัฐเนวาดาปีนี้ ซัมซุงยังกวาดรางวัลมากมายไปจากงานประกาศรางวัล CES Innovation Awards ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอุปกรณ์หรือการบริการ ตั้งแต่เทคโนโลยีจอภาพ ไปจนถึงอุปกรณ์มือถือที่ได้รับรางวัลด้านการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมโซลูชั่นที่โดดเด่นในอุตสหากรรม ยิ่งไปกว่านั้น ดีไซน์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-packaging) ของซีรีฟ (The Serif) จากซัมซุง ยังได้รับการยอมรับด้านการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ดีไซน์แบบอีโค่แพ็กเกจจิ้ง (Eco-packaging) ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถอัพไซเคิลได้ โดยการนำบรรจุภัณฑ์มาประยุกต์เป็นชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก ที่เมื่อนำมาประกอบกับอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว สามารถแปรรูปกล่องกระดาษลูกฟูกอย่างหนาให้กลายเป็นโต๊ะหรือชั้นวางของขนาดเล็กได้ เพียงทำตามหนังสือคู่มือที่มีให้ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดที่อยู่บนกล่อง โดยอีโค่แพ็กเกจจิ้งจะออกสู่ตลาดพร้อมกับซีรีฟ หนึ่งในไลน์อัพทีวีของซัมซุง ภายในครึ่งปีแรกของปี 2563
ก่อนงาน CES 2020 ซัมซุงได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพงานเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรีไซเคิล ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2560 และดำเนินการทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน
และในวันที่ 4 มกราคม ก่อนหน้างาน CES 2020 ที่ผ่านมา ซัมซุงได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ที่มาร่วมงานสามารถทิ้งอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้วของพวกเขาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งซัมซุงได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพงานเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรีไซเคิลตั้งแต่ปี 2560 และดำเนินการทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน