ทุกวันนี้ 5G เริ่มกลายเป็นคำสามัญที่ได้ยินกันบ่อยขึ้น แต่เทคโนโลยียุคถัดไปอย่าง 6G อาจจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อยเกือบสิบปี ระหว่างนี้รัฐบาลหลายๆ แห่งก็ต้องการมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่
รัฐบาลเกาหลีใต้เองแสดงความต้องการมีส่วนร่วมและกำหนดทิศทางการพัฒนา 6G โดยต้องการให้เทคโนโลยีต้นแบเสร็จภายในปี 2026 และพร้อมใช้งานจริงภายในปี 2030 โดยนอกจากการสื่อสาร 6G แล้วเกาหลีใต้ยังสนใจเทคโนโลยีหลายๆ ตัวที่อยู่ระหว่างการตั้งไข่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนตร์แห่งโลกอนาคต (ทั้งรถไร้คนขับ และรถยนตร์ไฟฟ้า) เทคโนโลยีสุขภาพ เทคโนโลยีหน้าจอ เทคโนโลยีอาวกาศ เทคโนโลยีเพื่อกองกำลังทหาร โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ และอีกหลายอย่าง
ในตอนนี้ยังไม่มีทิศทางว่า 6G จะใช้การสื่อสารมาตรฐานใด หรือจะต้องทำงานอย่างไร ที่เริ่มมีแนวทางมาบ้างก็คือการถ่ายโอนข้อมูลต้องทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 1Tbps และ Latency ต่ำ คือไม่เกิน 100 ไมโครวินาที จากแผนภาพด้านบนจะเห็นว่าสปีดของ 6G นั้นจะสูงกว่า 5G ราวๆ 50 เท่า และเวลาหน่วง Latency ต่ำลงไปอีก 10 เท่าด้วยกัน (สีฟ้าเข้มคือ 6G ส่วนสีฟ้าอ่อนคือ 5G)
แม้ว่าอนาคตและมาตรฐานของ 6G จะยังไม่ชัดเจน ยักษ์ใหญ่จากฝั่งเกาหลีอย่าง Samsung และ LG ก็เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีนี้แล้ว โดยทั้งคู่ใช้สัญญาณความถี่ระดับ Terrahertz เพื่อส่งข้อมูล ทาง Samsung ทดสอบการส่งความถี่ที่ระยะ 15 เมตรเพื่อทำการส่งข้อมูลความเร็วสูง ส่วน LG ก็ใช้ความถี่ลักษณะเดียวกันทดสอบส่งข้อมูลข้ามอาคารไกลถึง 100 เมตรด้วยกัน
เหตุผลก็เพราะว่ายิ่งความถี่สูงมากเท่าไหร่ ระยะทำการของคลื่นก็จะสั้นลงเท่านั้น การกระโดดข้ามหลัก Gigahertz ในปัจจุบัน (4G ในไทยความถี่ปัจจุบันคือ 1.8 – 2.4 Ghz) ไปเป็นหลัก Terrahertz (1,000 Gigahertz) เป็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องความถี่อย่างมาก ซึ่งเป็นไปได้ว่าระยะทำการของเสาสัญญาณจะลดลงจากหลายสิบเมตรเหลือเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาของ mmWave ในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน เนื่องจากความถี่ mmWave อยู่ในช่วง 28 – 39 GHz และมีระยะทำการที่ค่อนข้างสั้น และถ้าหากมีกำแพงบังความเร็วก็จะตกลงอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์คงต้องหาทางพัฒนาเทคโนโลยีอีกนาน ถ้าจะให้มีความถี่สูง แต่ขณะเดียวกันก็มีระยะทำการที่ไกล และเจาะทะลุทะลวงกำแพงได้ด้วย
ที่มา – GSMarena