19 พฤศจิกายน 2558 – Digital Citizen Hub ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างดีแทคกับ M Thai เผยแพร่รายงานการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยที่จัดทำโดยเทเลนอร์กรุ๊ป http://www.mthai.com พบว่า การใช้ถ้อยคำไม่สุภาพบนสื่อออนไลน์เป็นสิ่งที่น่ารำคาญใจมากที่สุด ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชอบโพสต์รูปสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแชร์ภาพแมว รวมถึงการบ่น แสดงความไม่พอใจ แม้บางครั้งรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
ในการสำรวจของประเทศไทยครั้งนี้ 78% ของผู้เข้าร่วมยอมรับว่า มีอาการเสพติดอินเทอร์เน็ต โดยมีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียซึ่งอยู่ที่ 67% คนไทยใช้เวลาออนไลน์ต่อวันมากที่สุดคือ 5.03 ชั่วโมง ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่ 4.38 ชั่วโมง มาเลเซีย 4.18 ชั่วโมง และอินเดีย 3.35 ชั่วโมง
การใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ตามมาก็คือ นิสัยในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ก่อให้เกิดความรำคาญ ซึ่งอาจมีหลายคนที่ประสบปัญหาดังกล่าว เทเลนอร์จึงได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตครั้งนี้ในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย ด้วยวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ใช้งาน เพื่อการสร้างอนาคตที่ดีของโลกดิจิทัลสำหรับทุกคน โดยผู้เข้าร่วมกว่า 400 คนจากทั่วภูมิภาคได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาชอบและรังเกียจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ผลวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นถึงระดับความอดกลั้นต่อความหยาบคาย ไปจนถึงการเซลฟี่และแชร์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์
5 สุดยอดพฤติกรรมน่าหงุดหงิดในการใช้อินเทอร์เน็ต
ผลสรุปของประเทศไทยพบว่า พฤติกรรมที่น่าหงุดหงิด 5 ลำดับของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคือ
- (1) การใช้คำพูดหยาบคาย 43%
- (2) การแพร่กระจายข่าวลือที่เป็นเท็จ 40%
- (3) การส่งคำเชิญชวนเล่นเกมออนไลน์ 32%
- (4) การโพสต์ข้อความก่อกวนเพื่อยั่วยุ 28%
- (5) การเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 20%
การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการโดย Penn Schoen Berland ประเทศสิงคโปร์ สำรวจจากประชากรจำนวน 401 คน เป็นคนไทย 101 คน คนสิงคโปร์ 100 คน คนมาเลเซีย 100 คน และคนอินเดีย 100 คน ผลที่ได้ระบุถึงความสอดคล้องกันในหลายด้านของเอเชีย ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น คนไทยส่วนใหญ่จะบ่นเรื่องการใช้คำพูดหยาบคาย โดยมีอัตราสูงถึง 43% ตามมาด้วยมาเลเซีย 39% ส่วนในสิงคโปร์และอินเดียพบว่า ความรู้สึกหงุดหงิดจากพฤติกรรมนี้มีน้อยมากคือ 7%และ 4% ตามลำดับ ในทางกลับกัน ข้อมูลที่ได้ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่รักสัตว์ เพราะมีเพียง 2% ของผู้ตอบที่กล่าวว่า การส่งอีการ์ด และแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับแมวนั้น เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่น่ารำคาญ
ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า “การสำรวจครั้งนี้ สร้างวิถีใหม่ที่ช่วยให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจลูกค้า เพื่อการนำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น ผลที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกที่เป็นไปในทางเดียวกันของคนไทยเรื่องความไม่ชอบพฤติกรรมการใช้คำพูดหยาบคายบนออนไลน์ ในขณะเดียวกัน ผมรู้สึกยินดีที่ได้รับทราบว่า คนไทยชื่นชอบการแชร์รูปภาพเกี่ยวกับอาหารอีกด้วย”
คนไทยรับชอบโพสต์รูปอาหารและบ่นบนออนไลน์
เมื่อถูกถามเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีส่วนร่วมด้วยตนเอง ผู้เข้าร่วมยอมรับว่า อันดับแรกคือ การโพสต์รูปภาพเกี่ยวกับอาหาร อยู่ที่ 36% อันดับ 2 คือ การบ่น ซึ่งอยู่ที่ 29%และอันดับ 3 คือ การแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับแมว และการสะกดคำและใช้คำผิดหลักไวยากรณ์ อยู่ที่ 20% ในขณะที่ผลสำรวจในเอเชียพบว่า ผู้หญิงโพสต์รูปภาพอาหารมากกว่า (31% เมื่อเทียบกับผู้ชายในอัตรา 23%) ผู้ชายเป็นเพศที่บ่นมากกว่า (14% เมื่อเทียบกับผู้หญิงในอัตรา 12%) แต่ทั้งหญิงและชายละเลยต่อการสะกดคำและใช้คำผิดไวยากรณ์ในระดับเท่าๆ กันที่14%
การวิเคราะห์โดยแบ่งตามเพศนี้ ยังเผยให้เห็นถึงลักษณะของพฤติกรรมที่มีความสัมพันธ์กัน และความแตกต่างที่น้อยมาก สองในสามของผู้ตอบที่ยอมรับว่า มีการโพสต์รูปเซลฟี่ของตัวเองจำนวนมากคือผู้หญิง ในขณะที่ผู้ชายจะสอดส่องแอบมองผู้คนบนเฟซบุ๊กมากกว่า
การเสพติดอินเทอร์เน็ต
ผลการสำรวจจาก 4 ประเทศชี้ว่า คนส่วนใหญ่ราว 67% ยอมรับว่าเสพติดอินเทอร์เน็ต ในทั้งหมดนี้ คนไทยเป็นผู้ที่เสพติดอินเทอร์เน็ตมากที่สุด โดยเกือบ 80% กล่าวว่า พวกเขาถูกอินเทอร์เน็ตครอบงำ ซึ่งเป็นสิ่งเกิดขึ้นกับทั้งสองเพศ โดยผู้หญิงจะรู้สึกหมกมุ่นกับการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าเล็กน้อย
ตามรายงาน ผู้หญิงใช้เวลาในการออนไลน์เพื่อจัดการเรื่องส่วนตัวมากกว่าผู้ชาย โดย 21% ใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเท่ากับ 730 ชั่วโมงต่อปี ส่วนผู้ชายเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตบ่อยครั้งกว่า ทั้งนี้ 89% ทำการเชื่อมต่อเพื่อออนไลน์หลายครั้งต่อวันด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
อินเทอร์เน็ต…เพื่อสิ่งที่ดีกว่า
แม้ว่าจะเป็นการศึกษาในเรื่องของพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรำคาญ ผลการสำรวจยังพบว่า 88% ของผู้เข้าร่วมชาวไทยกล่าวว่า อินเทอร์เน็ตช่วยปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น และ 86% ระบุว่า โซเชียลมีเดียช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนและครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ในด้านการรับมือกับพฤติกรรมที่น่าหงุดหงิดนั้น ผลสำรวจเผยถึงความเชื่อของผู้เข้าร่วมว่า จะต้องมีทั้งการควบคุมตนเองและการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องของผู้ปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมที่อยู่ในช่วงอายุ 35-49 ปี ที่มีความเห็นหนักแน่นว่า เป็นความรับผิดชอบของผู้ปกครอง ในการสอนให้เด็กๆ เรียนรู้และใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธี ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นมากที่สุดใน 4 ประเทศ จากการที่คนไทยรู้สึกว่า พฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์เป็นความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลที่ระดับ 37% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคซึ่งอยู่ที่26%
คาริอาน่า เมลเลอบี้ Head of Global Partnership, Telenor Digital AS กล่าวว่า “ภายใต้กลยุทธ์ Internet for All ของเทเลนอร์ เราตั้งเป้าที่จะทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ 200ล้านราย ภายในปี 2017 ซึ่งเราจะเห็นผู้ใช้หน้าใหม่เป็นจำนวนมากในเอเชีย ในขณะที่จะมีคนเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น การเฝ้ารอดูว่าจรรยามารยาทของการอยู่ร่วมกันในเครือข่ายจะพัฒนาไปอย่างไรก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เช่นเรื่องของการเซลฟี่และรูปภาพของแมว ซึ่งเราอาจจะไม่แปลกใจ หากว่าคนอีกพันล้านคนที่จะเข้าสู่โลกออนไลน์ในอนาคตจะเป็นผู้มีประสบการณ์และรอบรู้มากกว่าเรา”
>