ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานั้นถือว่าเป็นช่วงที่เกิดสงครามแย่งชิงคลื่นระหว่างสามบริษัทในกลุ่มโทรคมนาคม คือ AIS, dtac, True Move H และอีกหนึ่งน้องใหม่ที่หวังก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจโทรคมนาคมอย่าง JAS ที่หลายคนอาจจะร้องอ๋อหากบอกว่าเป็นบริษัทแม่ของธุรกิจบรอดแบนด์ชื่อดังอย่าง 3BB ที่มีโครงข่ายบรอดแบนด์เกือบจะทั่วทั้งประเทศ ถือเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการเข้ามาทำธุรกิจโทรคมนาคมอีกแห่งที่น่าจับตามอง
สงครามการประมูลคลื่นความถี่นั้นเกิดขึ้น 2 ครั้งด้วยกันโดยเป็นคลื่น 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต โดยแบ่งเป็นขนาดใบละ 15 MHz และคลื่น 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต แบ่งเป็นใบละ 10 MHz ซึ่งผลการประมูลได้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผู้ชนะคลื่น 1800 MHz
– แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 40,986 ล้านบาท
– บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 39,792 ล้านบาท
ผู้ชนะคลื่น 900 MHz
– บริษัท แจสโมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 75,654 ล้านบาท
– บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 76,298 ล้านบาท
ผลการประมูลครั้งนี้ส่งผลให้ True Move H มีคลื่นความถี่ที่นำมาใช้งานในธุรกิจโทรคมนาคมได้มากที่สุดคือ 55 MHz ประกอบด้วย
1. คลื่น 850 MHz – ใช้งานเป็น 3G WCDMA 15 MHz (เช่าคลื่นต่อจาก CAT Telecom)
2. คลื่น 900 MHz – ใช้งานเป็น 2G GSM 5 MHz และ 4G LTE 5 MHz
3. คลื่น 1800 MHz – ใช้งานเป็น 4G LTE Advance 15 MHz
4. คลื่น 2100 MHz – ใช้งานเป็น 4G LTE 10 MHz และ 3G WCDMA 5 MHz
ฟาก AIS มีคลื่นความถี่รวมอยู่ที่ 30 MHz ประกอบด้วย
1. คลื่น 1800 MHz – ใช้งานเป็น 4G LTE 15 MHz
2. คลื่น 2100 MHz – ใช้งานเป็น 4G LTE 10 MHz และ 3G WCDMA 5 MHz
ในขณะที่ dtac ไม่มีคลื่นเพิ่ม แต่ยังมีคลื่นเหลืออยู่มากพอสมควรประกอบด้วย
1. คลื่น 850 MHz – ใช้งานเป็น 3G WCDMA 10 MHz (เช่าคลื่นต่อจาก CAT Telecom)
2. คลื่น 1800 MHz – ใช้งานเป็น 4G LTE 20 MHz และ 2G GSM 5 MHz
3. คลื่น 2100 MHz – ใช้งานเป็น 4G LTE 5 MHz และ 3G WCDMA 10 MHz
JAS ผู้เล่นหน้าใหม่มีคลื่นความถี่ 900 MHz ใช้งานเป็น 4G LTE 10 MHz
ถึงตรงนี้จะเห็นว่าผู้ที่ถือครองคลื่นความถี่น้อยที่สุดคือ JAS แต่หากเทียบกับฐานลูกค้าที่ปัจจุบันยังไม่มี ทำให้มีคลื่นเพียงพอในการทำธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามคำถามที่ตามมาของ JAS ก็คือการที่ไม่มีคลื่นที่ใช้งานบนเทคโนโลยี 2G และ 3G ทำให้ต้องไปหาวิธีการ ซึ่งไม่ยากเพราะมีผู้เล่นหลายรายมีเทคโนโลยีตรงนี้อยู่แล้วการเป็นพาร์ทเนอร์คงไม่ยากเท่าไรนัก คำถามที่หนักกว่าก็คือ JAS จะทำอย่างไรให้บริษัทมีฐานลูกค้าขั้นต่ำ 2 ล้านรายภายใน 3 ปี เพื่อทำให้ธุรกิจมีกำไร ถือเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากถึงแม้จะมีเงินทุนเพียงพอก็ตาม
AIS ถึงแม้จะมีคลื่นอยู่รวม 30 MHz แต่หากเทียบกับฐานลูกค้าที่มีกว่า 37 ล้านเลขหมาย ในทางทฤษฎีแล้วเพียงพอต่อการให้บริการ แต่หากมองถึงอนาคตที่เครือข่ายจำเป็นต้องขยายอาจตอบได้ยากว่าคลื่นที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ ซึ่งทางแก้ไขปัญหาของ AIS ในเรื่องของคลื่นก็เหมือนจะชัดเจนแล้วว่าจะร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ TOT ที่จะได้คลื่น 2100 MHz มาอีก 12.5 MHz และอาจจะได้สิทธิในคลื่น 2300 MHz ที่ TOT ถือครองสิทธิอยู่อีกด้วย
True Move-H รายนี้ประมูลคลื่นได้มาเพียบ เรียกได้ว่าพร้อมที่จะรองรับฐานลูกค้าที่มากขึ้นได้เป็นเท่าตัว ซึ่งเป้าหมายแรกน่าจะเป็นการแซง dtac เพื่อขึ้นเป็นหมายเลข 2 ในตลาดให้ได้ ด้วยการมีคลื่นมากกว่าทำให้ได้เปรียบเรื่องของความครอบคลุม ความเร็ว ความเสถียร ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทีมงานว่าจะนำทรัพยากรมาเปลี่ยนเป็นประโยชน์ได้ดีแค่ไหน แต่ปัญหาของ True Move-H ก็คือการประมูลคลื่นที่มีค่าใช้จ่ายสูงทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz ทำให้เกิดหนี้สินก้อนใหม่ที่อาจจะทำให้บริษัทประสบปัญหาทางด้านการเงินได้ซึ่งต้องดูกันยาวๆ
dtac ที่ไม่ได้คลื่นใหม่อาจไม่มีปัญหาเรื่องภาระหนี้สินใหม่ แต่ปัญหาของค่านี้ก็คือคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ที่อยู่ในสัมปทานระหว่าง CAT Telecom นั้นจะหมดลงในปี 2561 (2 ปี) หากหมดสัมปทานลงจะทำให้ dtac มีคลื่นไม่เพียงพอในการให้บริการกับลูกค้า อาจบอกได้ว่าหลังหมดสัมปทานแล้วอาจจะเกิดการประมูลคลื่น 1800 MHz อีกครั้งโดยใช้คลื่นที่หมดสัมปทานมาประมูล แต่ก่อนถึงวันนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ทำให้สถานะของ dtac อาจเรียกได้ว่ากลืนไม่เช้าคายไม่ออก เพราะหากจะลงทุนโครงข่ายเดิมไป แต่เวลาอีกแค่ 2 ปีทำให้อาจได้ไม่คุ้มเสียหรือเปล่า?
มหากาพย์การแข่งขันกันในธุรกิจโทรคมนาคมนี้ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งแต่ละเจ้าก็มีปัญหาและข้อได้เปรียบที่แตกต่างออกไป สุดท้ายขึ้นกับองค์กรด้วยว่าจะมีกลยุทธ์และวิธีการอย่างไรให้ใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดให้กับองค์กร ทั้งนี้ทั้งนั้นการประมูลคลื่นความถี่ไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้ จากนี้ 1-3 ปี จะเกิดการประมูลคลื่นอีกแน่นอน ทำให้กลยุทธ์ของแต่ละค่ายอาจจะเปลี่ยนไปตามเวลา อย่างไรก็ตามสำหรับผู้บริโภคอย่างเราก็เป็นเรื่องดี ที่เกิดการแข่งขันมากขึ้นในธุรกิจโทรคมนาคม เพราะนั่นหมายความว่าเราจะมีทางเลือกมากขึ้นนั่นเอง