เสี่ยวหมี่ (Xiaomi) ฮวาเหวย (Huawei) เม่ยจู๋ (Meizu) ทำให้ “จีน” ขึ้นตำแหน่งผู้นำด้านมือถือแอนดรอยด์สเปคสูงราคาถูกและติดใจผู้ใช้ทั้งในจีนและทั่วโลก ที่ผ่านมาเราเคยรู้แต่ภาพใหญ่ๆ ว่าจีนวันนี้ไฮเทคขึ้นสร้างสรรค์ของเจ๋งๆ ในราคาเบาๆ ให้เราได้ใช้กันคล่องมือ ทว่าเรากลับแทบไม่รู้เลยว่า “คนจีน” จริงๆ แล้วมีไลฟ์สไตล์การใช้มือถือเหมือนหรือต่างกับคนในประเทศอื่นๆ หรือไม่อย่างไร? เพราะที่นั่นเว็บอะไรก็ถูกรัฐบาลบล็อคไปเสียหมด!
และหลังจากสัมผัสกับแอพฯ สโตร์จีน ใช้มือถือจีน ใช้ชีวิตในเมืองจีน ผู้เขียนจึงอยากถ่ายทอดบทวิเคราะห์สั้นๆ ที่จะทำให้คุณรู้จัก “ดิจิตอลไลฟ์สไตล์” ของคนในแดนมังกรแบบเจาะลึกมากขึ้น และจะเซอร์ไพรส์ว่ามีอะไรๆ ที่จะทำให้คุณต้องทึ่งอีกแน่นอน!
ก่อนอื่นมีข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่จะปูพื้นให้คุณได้เห็นภาพรวมของตลาดมือถือและแอพพลิเคชั่นของจีนเล็กน้อย จากสถิติของ statista.com พบว่ามือถือสมาร์ทโฟนในจีน 78% ใช้ระบบแอนดรอยด์ (คิดเป็นตัวเครื่องแล้วคือประมาณ 420 ล้านเครื่อง) รองมาก็เป็น iOS ของแอปเปิ้ล 25%
จุดที่เปิดประเด็นความน่าสนใจของบทความนี้เริ่มต้นที่ การคลายความสงสัยที่ว่าคนจีนที่ใช้ไอโฟนโหลดแอพฯ จากแอพสโตร์ของแอปเปิ้ลเป็นส่วนใหญ่ แต่คนที่ใช้แอนดรอยด์ไม่ได้ใช้ “กูเกิ้ล เพลย์ สโตร์ (Google Play Store)” ในการดาวน์โหลด เพราะแม้แต่การเข้า www.google.cn ก็ถูกบล็อคตั้งแต่ปี 2001 ดังนั้นผู้ใช้มือถือแอนดรอยด์จีนเขาไปโหลดแอพฯ จากไหนกันนะ? เรามีคำตอบลึกๆ มาฝากกัน!
- Play Store สูญพันธุ์ในเมืองจีน
360 / เท็นเซ็นต์ / ไป๋ตู้ 3 ราย ผู้ครองตลาดแอพฯ จีน
ตามที่เกริ่นไปแล้วว่าเพราะรัฐบาลจีนบล็อคกูเกิ้ล คนจีนที่ใช้มือถือแอนดรอยด์ ซื้อมือถือมาจึงไม่มีปุ่ม Play Store ติดมาด้วย ทำให้พวกเขาหาทางเลือกใหม่จากแอพสโตร์ทางเลือกอื่น ซึ่ง 3 ค่ายที่ถือเป็น “แอพสโตร์” ที่ใหญ่ที่สุดในจีน โดยส่วนแบ่งการตลาดของ 3 ค่ายรวมกันแล้วกินรวบ 86% ของแอพสโตร์จีนเรียบร้อยแล้ว!
เบอร์หนึ่งแอพสโตร์จีน คือ 360 (zhushou.360.cn) แบรนด์นี้เชื่อว่าใครใช้มือถือจีนต้องเคยเห็น เริ่มต้นดังมาจากการทำแอพฯ ลบแคชในเครื่องและสำรองข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นแอพฯ สามัญประจำเครื่องที่คนจีนใช้ประจำ
เบอร์ 2 ตกเป็นของ QQ App store (myapp.com) ซึ่งเป็นบริการจากบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ของจีนอย่างเท็นเซ็นต์ ถึงแม้แอพสโตร์ของ QQ จะติดอันดับ 2 แต่จากสถิติของฟอร์บระบุว่าเท็นเซ็นต์คือบริษัทไฮเทคที่ทำรายได้ด้านบริการเสริมมือถือได้มากที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งรายได้หลักก็มาจากแอพฯ ประเภทเกมที่ตัวเองครองตลาดอยู่ตั้งแต่ยุคพีซีแล้ว!
ส่วนเบอร์ 3 ตกเป็นของ ไป๋ตู้ (shouji.baidu.com) บริษัทที่ทำทุกอย่างเหมือนกูเกิ้ล ตั้งแต่เว็บค้นหา ระบบปฏิบัติการมือถือ ดังนั้นทำไมจะมีแอพสโตร์ของตัวเองไม่ได้
ซึ่งแอพสโตร์รุ่น Made in China เหล่านี้ในรูปแบบเว็บพร้อมรองรับการดาวน์โหลดกับมือถือทุกระบบ (รวมทั้งทำเป็นแอพฯ เหมือนแอพสโตร์ด้วย) เพียงแค่หากเป็น iOS ก็จะลิงก์ไปยังแอพฯ ในแอพสโตร์ของแอ๊ปเปิ้ลจริงๆ แต่แอนดรอยด์ที่ปกติอนุญาตให้ลงแอพฯ จากภายนอกได้อิสระ ก็จะดาวน์โหลดแอพฯ จากแอพสโตร์จีนโดยตรง ซึ่งเว็บเหล่านี้ก็ได้รายได้จากโฆษณา และส่วนแบ่งจากการเอาแอพฯ มาขายที่ร้านค้าของตนเหมือนที่แอปเปิ้ลและกูเกิ้ลได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดีแอพสโตร์ของที่ค่ายผู้ผลิตเครื่องมือถือทำขึ้นมาเองอาทิ Xiaomi App store, Huawei App store ก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าจีนไม่แพ้กัน เพราะมั่นใจว่าดาวน์โหลดมาแล้วจะเป็นเวอร์ชันที่ตรงกับเครื่องที่เราใช้จริงๆ ทำให้ใช้งานได้เสถียรกว่าเยอะ! ทั้งยังเป็นจุดที่จะช่วยหารายได้ใหญ่ให้กับผู้ผลิตมือถือที่ตั้งใจดัมพ์ราคาเครื่องถูก เพื่อหาเงินจากบริการเสริมแทนนั่นเอง
- คนจีนต้องใช้บัตร Gift Card ซื้อแอพฯ แทนเครดิตการ์ด!
ถึงแม้รายได้จากแอปเปิ้ลแอพสโตร์ในจีนถือเป็นอันดับสองรองจากอเมริกาบ้านเกิด แต่การที่คนจีนเหล่านั้นจะซื้อแอพฯ ในแอพสโตร์มาลงมือถือไอโฟน ไอแพด ของตัวเองนั้นไม่ง่าย (ต้องใช้ผ่านบัตรรหัสในของขวัญเท่านั้น) เพราะบัตรเครดิตที่แพร่หลายที่สุดในเมืองจีนอย่าง “ยูเนี่ยนเพย์ (Union Pay)” กลับใช้ซื้อแอพฯ ในแอปเปิ้ลแอพสโตร์ไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่อนุญาตให้มีการโอนเงินระหว่างบัตรเครดิตจีนไปยังบริษัทต่างชาตินั่นเอง
ผลก็คือ ทางแอปเปิ้ลเตรียมดีลกับอลีเพย์ (Alipay)* ที่มีใบอนุญาตทำธุรกรรมโอนเงินกับบริษัทต่างชาติอยู่แล้ว มาเป็นคนกลางช่วยให้ในอนาคตคนจีนสามารถซื้อแอพฯ ง่ายๆ แค่จ่ายผ่านอลีเพย์ (ซึ่งคาดว่าระบบ Apple Pay ในจีนก็จะต้องใช้วิธีนี้เช่นกัน)
อย่างไรก็ดีแม้ดูว่ายอดการดาวน์โหลดแอพฯ จากคนจีนที่ใช้ผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลดูยังเยอะ แต่ก็ถือว่ารายได้แท้จริงยังหายไปเยอะ เพราะร้านค้ารายย่อยต่างอัดโปรฯ ซื้อเครื่องแถมแพ็คเก็จซิงก์แอพฯ แท้ แอพฯ ใดก็ได้ไม่จำกัดตลอดชีพ (บริการนี้จ่ายครั้งเดียวประมาณ 1,500 บาทเท่านั้น) ซึ่งก็ถือเป็นตลาดสีเทาที่ยากจะแก้ไข
*อลีเพย์ (Alipay) บริการชำระเงินออนไลน์ที่เหมือนกันเพย์พาล (Paypal) แต่คิดค้นโดยอลีบาบา และวันนี้กลายเป็นบริษัทนวัตกรรมดาวรุ่งของจีน ที่สามารถพัฒนาระบบการจ่ายเงินด้วยการจดจำใบหน้าแทนการใส่รหัสผ่าน หรือสแกนลายนิ้วมือ
คนไทยมีไลฟ์สไตล์คล้ายกับประเทศที่มีอิสระทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยทั่วไป เช่น อัพเดทข่าวสารผ่านเฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ คุยกับเพื่อนผ่านไลน์ แต่ที่จีนแอพฯ ฝรั่งเหล่านี้ถูกบล็อกหมด! แต่คนจีนก็ยังอินกับวัฒนธรรมโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ด้วยแอพฯ ที่ผลิตมาเพื่อคนจีนโดยเฉพาะอย่าง เวยโป๋ (weibo) ที่ผสานความสามารถของเฟสบุ๊กและทวิตเตอร์เข้าด้วยกัน และวีแชต (WeChat) ที่วันนี้ไปไกลกว่าไลน์หลายเท่า ด้วยค่าบริการเปิดบัญชีสำหรับภาคธุรกิจที่ถูกเพียงหลักพัน ทำให้ทุกบริษัทในจีนต่างใช้ WeChat ในการติดต่อกับลูกค้าทั้งสิ้น ทั้งยังมีระบบสมองกลอัจฉริยะ ทำการตอบโต้กับคำถามยอดฮิตกับลูกค้าโดยอัตโนมัติ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ทันที ลดเวลาการพิมพ์และจำนวนคอลเซ็นเตอร์ได้อีกเยอะ
นอกจากนี้แอพฯ โซเชียลเหล่านี้ยังลิงก์กับบริการจ่ายเงินออนไลน์ ทำให้ทุกอย่างที่เราเห็นในหน้าจอ หากเขาเปิดขาย เราก็สั่งซื้อได้จากมือถือทั้งสิ้น!
- แอพฯ แบบไหน? ที่คนจีนฮิตไม่เหมือนชาวบ้าน
จากการตระเวนดูแอพสโตร์จากหลายประเทศ ทำให้เห็นว่าแอพฯ ยอดฮิตของคนจีนบางส่วนเหมือนกับต่างประเทศ (เพียงแต่ใช้คนละแอพฯ) ดังเช่นแอพฯ weibo, WeChat ที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ แอพฯ เรียกแท็กซี่ (Dididache) แอพฯ ซื้อดีลร้านอาหารดัง (meituan) แอพฯ เก็บไฟล์ออนไลน์ (Baidu Cloud) แต่ก็ยังมีแอพฯ ฟังก์ชั่นแปลกๆ ที่ฮิตในหมู่คนจีนและไม่เหมือนกับที่อื่นเลย และล้วนเป็นแอพฯ ที่ติด 1 ใน 10 แอพฯ ฟรียอดนิยม อาทิ…
“ฉวนหมินKเกอ” แอพฯ ร้องคาราโอเกะแบบโซเชียล ที่มีเพลงให้เลือกร้องเป็นหมื่นเพลง เมื่อใส่หูฟังและร้องผ่านไมค์ จะมีการใส่เอคโค่ให้รู้สึกเหมือนขึ้นเวทีร้องเองจริงๆ ที่สำคัญร้องจบมีคะแนนเทียบระดับกับคนทั้งประเทศที่ร้องเพลงเดียวกันได้
ไม่แปลกที่แอพฯ นี้จะฮิตที่จีนและที่อื่นไม่ฮิต เพราะปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ในจีน ทีมงานจึงอัพเดทเพลงใหม่ๆ และเอาเพลงเก่าๆ มาไว้ในระบบจนเรียกลูกค้าทุกเพศทุกวัยได้ง่ายๆ
“แอพฯ เล่นไว-ไฟฟรี” กลายเป็นแอพฯ ฮิตในจีนด้วย 2 เหตุผลใหญ่ ข้อแรกคือ เน็ต 3G ไม่แรงอย่างที่คุยไว้ในโฆษณา และ 2 ทุกสถานที่มักมีไว-ไฟบริการ แต่ก็ประสบปัญหาคือ เสาไว-ไฟของสถานที่ต่างๆ มักจะถูกล็อกรหัสผ่านเอาไว้ แต่แอพฯ นี้ที่ร่วมมือกับค่ายมือถือ และขอความร่วมมือจากคนทั่วไป แบ่งปันรหัสผ่านเข้าเสาไว-ไฟตามสถานที่ต่างๆ ที่คุณไป ทำให้ในที่สุดใครๆ ก็จะได้ใช้ไว-ไฟฟรีๆ นั่นเอง
สังคมหลากเพศสภาวะถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนไทย แต่ที่จีนถือเป็นของแปลก (แม้จะมีการลงพื้นที่ศึกษาว่าประชากรเกย์ในจีนมีมากกว่า 60 ล้านคนก็ตาม) จึงทำให้หลายทัวร์ 0 เหรียญต้องมีโปรแกรมไฮไลท์มาดู “เหรินเยา 人妖” (คำจีนที่แปลว่ากะเทย) กันเลยทีเดียว! แต่ในความเป็นจริงความหลากหลายทางเพศมีอยู่ในทุกที่ ทุกประเทศ ทุกศาสนา และจีนก็เช่นเดียวกัน จึงทำให้เทรนด์ของการสร้างโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กสำหรับชาวสีม่วงยิ่งทวีความฮอตมากขึ้นในจีน โดยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเกย์สาวหรือเกย์หนุ่ม ก็ต่างมีแอพฯ หาคู่เวอร์ชั่นจีนของตัวเองกันเพียบ
สำหรับเกย์หนุ่มก็มีแอพฯ ชื่อ Blue, Zank, JackD
สำหรับเกย์สาว เหล่าเลสเบี้ยนก็มี TheL, LesPark, LesDO
ถึงตอนนี้ก็น่าตั้งคำถามว่าเมืองไทยทำไมเปิดเผยทางเพศมากมาย แต่กลับไม่มีแอพฯ เฉพาะสำหรับคนกลุ่มนี้เลย!
ผู้เขียนเชื่อว่าเกร็ดความรู้เกี่ยวกับ Mobile Lifestyle ของชาวจีนนี้ จะเป็นเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่จะช่วยให้คุณได้รู้จักกับคนจีนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น เพราะหากเราต้องการจะทันกับกระแส “บูรพาภิวัฒน์” แล้วล่ะก็ การรู้เขา (คนจีน) และเข้าใจเรา (คนไทย) ก็ทำให้ทุกการสื่อสารระหว่างกันเป็นไปอย่างถูกทิศทางและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น!