สวัสดีครับ ผมปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนนอล) ดูได้ทั้งทางทีวีดาวเทียมทางช่อง 32 และทีวีดิจิตอลช่อง 22 ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสด เวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม… สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้จะมาพูดเรื่อง Samsung แชมป์ผู้ไม่ยอมยกบัลลังก์ให้กับใคร กับการเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำเพื่อรักษาแชมป์
แชมป์ (มือถือ) นี้ยากนักที่จะรักษาไว้ แชมป์เก่าล้วนแล้วแต่ตกบัลลังก์ไปจนหมดสิ้น
ตั้งแต่ผมเข้าวงการ Telecom ในปี 1994 (พ.ศ. 2537) ก็จำความได้ว่าแชมป์ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือโลกนั้นเป็นของ Motorola จากอเมริกา ที่ขับเขี้ยวกันมากับ Ericsson แห่งสวีเดน โดยมี Nokia จากฟินแลนด์ตามมาติดๆ ตอนนั้น Motorola เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นรายแรกของโลกที่นำออกจำหน่ายสู่ตลาดทั่วไป ตั้งแต่ปี 1983 ในชื่อ Motorola DynaTac 8000X จนกลายมาเป็นโทรศัพท์มือถือ (เพราะขนาดมันถือได้ด้วยเพียงมือเดียวแล้ว) ก็ยังครองแชมป์อย่างเหนียวแน่น
จนมาถึงยุคดิจิตอล ที่โทรศัพท์มือถือเริ่มใช้ SIM Card เป็นสิ่งสำคัญในการใช้บอกความเป็นเจ้าของหมายเลข เวลาย้าย SIM ไปยังเครื่องอื่นๆ เบอร์โทรศัพท์ของเราก็จะตามไปด้วย ต่างจากยุคอนาล็อกที่หมายเลขโทรศัพท์จะถูกโปรแกรมอยู่ในเครื่องใดเครื่องหนึ่งเท่านั้น ในยุคดิจิตอลนี้เอง การแข่งขันก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คู่แข่งที่แข็งแรงมากในยุคนั้นก็มี Motorola, Ericsson, Nokia, Siemens, Alcatel, Sony, Sagem, Panasonic ตอนนั้นเกาหลีและจีนยังค่อนข้างห่างไกลมากในด้านการแข่งขัน พูดง่ายๆ แทบไม่มีคู่แข่งจากเกาหลีหรือจีนเลย โดย Motorola ครองแชมป์อยู่จนถึงปี 1998 ก็เสียแชมป์ให้กับ Nokia ถ้ามองตอนนั้นก็ต้องบอกว่า Motorola ประมาทและไม่คิดที่จะปรับตัวในการทำสิ่งใหม่ๆ ได้ ยึดติดอยู่กับแต่สิ่งที่เคยสำเร็จในอดีตจนไม่รับฟังกระแส หรือแม้แต่จะคิดประดิษฐ์ในสิ่งใหม่มาสู้กับ Nokia
ขณะที่ Nokia คิดใหม่ทำใหญ่ ทำให้สามารถแย่งแชมป์ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ของโลกมาแทนได้ และ Nokia ก็ครองแชมป์อยู่นาน พอเข้าช่วงปี 2000 การแข่งขันก็เริ่มสนุกขึ้นโดยมีผู้ท้าชิงจากประเทศเกาหลีที่รัฐบาลผลักดันให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อย่าง LG และที่มาแรงแซงทุกคนอย่าง Samsung งานนี้ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีทุ่มสุดตัวเพื่อสร้างแบรนด์ให้ติดตลาด ทุ่มเงินสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคและในที่สุดก็ทำมาสำเร็จได้ในไตรมาสแรกของปี 2012 ที่ Samsung ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดของโลกแทนที่ Nokia ขณะที่สถานการณ์อย่างยักษ์ใหญ่ในอดีตและแชมป์เก่า ก็ม้วยหายกันไปหมด อย่าง Motorola ก็ขายกิจการด้านโทรศัพท์มือถือให้ Google ไปและ Google ก็ได้ขายต่อไปให้ยักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Lenovo
สำหรับ Nokia ก็มีสภาพไม่ต่างกันโดย Microsoft ก็ได้เข้ามาซื้อกิจการด้านโทรศัพท์มือถือจาก Nokia ไปด้วย สำหรับยักษ์ใหญ่ในอดีตอื่นๆ ก็มีอันต้องขายกิจการไปหมดเช่นกัน อย่าง Siemens ก็ขายกิจการให้กับ BenQ แห่งไต้หวัน แต่ในที่สุด BenQ ก็ไปไม่รอดเช่นกัน ส่วน Ericsson ก็ขายกิจการโทรศัพท์มือถือให้ Sony ไปหลังจากร่วมทุนกันอยู่กว่า 15 ปี ส่วน Alcatel ก็ขายกิจการส่วนโทรศัพท์มือถือให้ TCL ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องไฟฟ้าจากจีนเช่นกัน ตอนนี้พูดง่ายๆ โดนเกาหลีกับจีนมาครองตลาดกันหมดแล้ว จะเหลือยักษ์ฝรั่งก็แค่ Apple เท่านั้นที่ยังขาย iPhone ได้เป็นบ้าเป็นหลังอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่ iPhone กำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 2007 อันนี้ต้องยอมรับจริงๆ ว่า Apple เจ๋งมากๆ ไม่น่าเชื่อว่ายักษ์ใหญ่ของวงการโทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นอดีตไป
ส่วนยักษ์ญี่ปุ่นก็เหลือแต่ Sony ที่ตอนนี้เองก็ใช่ว่าจะดี ยอดขายก็ฝืดลงทุกวัน ยักษ์เก่าในวันนี้ก็กลายเป็นอดีตกันไปหมด แทบหมดราศีกันไปเลยทีเดียว เพราะเจ้าของเดิมต้องขายกิจการให้คนอื่นๆ ไปทำแทนซะงั้น (เจ้าของใหม่ก็กลายเป็นจีนไปหมดเลย) วงการนี้อยู่ยากจริงๆ นับวันยิ่งยากเข้าไปเรื่อย ส่วนยักษ์ใหม่ก็ล้วนแล้วแต่มาจากจีนทั้งนั้น แล้ววันข้างหน้าแชมป์จะเปลี่ยนมืออีกไหม…
Samsung แชมป์ใหม่ที่หลายๆ คนเคยมองข้าม
Samsung โทรศัพท์มือถือเริ่มเข้าไทยมาตั้งแต่ปี 2001 ยุคนั้นสมัยนั้นใครๆก็มองสินค้าจากเกาหลีว่าไม่มีค่าเท่าไร พูดง่ายๆ ไม่ให้ราคาเลย สู้สินค้าจากญี่ปุ่นอย่าง Sony, Panasonic ไม่ได้เลย หรือถ้าเปรียบเทียบคนเลือกซื้อรถยนต์ ก็ต้องเลือก Toyota ไม่เลือก Hyundai แน่นอนครับโดยเฉพาะคนไทย วัฒนธรรมของคนไทยเรานั้น ในอดีตก็ผูกพันกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตลอด (แม้แต่วันนี้ก็ยังเยอะ) เวลาใครซื้อทีวียี่ห้อ Samsung, LG ดูจะกลายเป็นสินค้าที่เกรดต่ำ เพราะฉะนั้นราคาต้องถูกเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายคนทั่วไป ซึ่งอาจไม่มีกำลังทรัพย์มากนัก แต่ด้วยแรงการตลาดที่ Samsung อัดเงินเรื่องของ Brand เข้าไปสองสามปี บวกกับกลยุทธ์ด้านราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งทำให้ยี่ห้อ Samsung เริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแง่ของ Brand สินค้าที่ผูกกันอยู่ในหลายสินค้า ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์, ตู้เย็น, แอร์, เครื่องซักผ้า, เตาไมโครเวฟ, กล้องถ่ายรูป ทำให้การที่จะทุ่มงบในการสร้าง Brand Samsung ให้เป็นที่เชื่อมั่น ก็ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยก็ว่าได้
ในที่สุดยี่ห้อ Samsung ก็กลายมาเป็นสินค้าที่คนให้ความเชื่อมั่น ทั้งในคุณภาพ ราคา บริการหลังการขาย และตัวสินค้าเอง จากการทำให้ภาพลักษณ์ของ Brand เป็นที่เชื่อถือจากผู้บริโภคได้ในที่สุด แน่นอนว่ากลยุทธ์แบบนี้น้อยรายนักที่จะทำได้ ส่วนใหญ่บริษัทใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยมีใครกล้าลงทุนกันมากนักสำหรับเรื่องการตลาดและความเชื่อถือใน Brand สินค้า นั่นก็ทำให้ Samsung ก็เติบโตมาจนถึงวันนี้ วันที่ราคาสินค้าของ Samsung อยู่ในระดับพรีเมียมแล้ว พูดง่ายๆ เป็นผู้นำตลาด ราคาสินค้าก็แพงกว่าคนอื่นๆ ไปโดยปริยาย โดยเชื่อว่ายังไงลูกค้าก็ต้องเลือกยี่ห้อ Samsung ในฐานะที่เป็น Brand ที่มี Marketing Share หรือส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งของโลก และอันดับหนึ่งในประเทศไทยเช่นกัน
ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ Samsung ที่ไม่ได้มีแค่นวัตกรรม
ในขณะที่สองสามปีก่อนหน้านี้หลังจากที่ Samsung มีผลิตภัณฑ์ดีๆ อย่าง Galaxy S, Galaxy S2, Galaxy S3, Galaxy S4, Galaxy Note, Galaxy Note 2, Galaxy Note 3, Galaxy Tab, Galaxy Grand, Galaxy Mega ซึ่งรุ่นเรือธงทั้งหลายเหล่านี้มาจากการคิดขึ้นสิ่งที่ใหม่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นส่วนด้านฮาร์ดแวร์ที่พัฒนาในด้านประสิทธิภาพของเครื่องได้เหนือกว่าคู่แข่ง หรือจะเป็นจอ Super AMOLED ที่ให้สีสันสดใสไม่มีใครเหมือนที่เป็นจุดเด่นกับตระกูล Galaxy S หรือจะเป็นปากกาสไตล์ลัสที่เรียกว่า S Pen มาอยู่บน Galaxy Note โดยไม่มีคู่แข่งคนใดจะทำได้เทียบเท่า หรือแม้แต่การนำเอาจอขนาดใหญ่มาสู่ตลาดผู้บริโภคให้เลือกหาเป็นเจ้าของได้ในราคาที่ไม่แพงอย่าง Galaxy Mega, Galaxy Grand, Galaxy Tab หรือแม้แต่การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ก่อนใครที่เห็นประโยชน์อย่างมีนัยยะ เช่น NFC ที่สามารถเอาด้านหลังโทรศัพท์มาแตะกันเพื่อส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว, HRM Sensor ตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจ, WiFi Direct การเชื่อมต่อส่งข้อมูลหากันด้วยความเร็วสูง, Wireless Charging การชาร์จโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องเสียบสายผ่านทางช่อง Micro USB แต่ใช้การวางสัมผัสกับที่ชาร์จไฟก็สามารถชาร์จไฟได้แล้ว
การพัฒนา Gesture Control คือการใช้ท่าทางกับสมาร์ทโฟนเพื่อให้ทำงานตามคำสั่งต่างๆ หรือแม้แต่การพัฒนาอุปกรณ์ Wearable Device อย่าง Smart Watch, Smart Band หรือจะเป็น Samsung Gear VR ที่จะทำให้สมาร์ทโฟนของคุณกลายเป็นโรงหนังแบบเสมือนจริงขึ้นมาได้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากกระบวนการคิด การพัฒนาวิจัย เพื่อสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองผู้บริโภค ไม่ใช่แบบผู้ผลิตจีนที่วันนี้พัฒนาสิ่งใหม่แบบ Copycat หรือลอกชาวบ้านเขามา สิ่งเหล่านี้ทำให้ Samsung สามารถขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าเป็นอันดับหนึ่งของโลกโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนแล้วกว่าสามปี แน่นอนคู่แข่งต่างก็ไม่อยู่นิ่งเป็นแน่ ต่างก็งัดฟีเจอร์จุดแข่งของตัวเองออกมากันให้ท่วมตลาดไปหมด และเริ่มสร้างความแตกต่างไม่ให้เหมือนใคร
หนึ่งในนั้นผมขอยกให้ HTC ที่พยายามมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เหมือนใครเช่นกัน เพียงแต่โชคไม่เข้าข้าง ผู้บริหารไม่สามารถผลักดัน HTC ให้มาอยู่ในท็อปห้าของโลกสมาร์ทโฟนได้ สิ่งหนึ่งที่ HTC ได้สร้างความแตกต่างในอุตสาหกรรมและกลายเป็นต้นแบบให้บริษัทคู่แข่งต่างๆ หันมาทำตามก็คือ การทุ่มเทในการพัฒนาด้านฮาร์ดแวร์ให้สวยงามและดูดี โดยการประยุกต์ใช้ชิ้นส่วนทางด้านโลหะที่เบาและแข็งแรงอย่าง อลูมิเนียม มาสกัดชิ้นส่วนผ่านกรรมวิธีต่างๆ ให้บอดี้ของเครื่องกลายเป็นชิ้นเดียวกัน หรือแม้แต่ผู้ผลิตอย่าง Apple ก็หันมาใช้แกนกลางของเครื่องเป็นโลหะและใช้ด้านหน้าด้านหลังของเครื่องเป็นกระจกมาตั้งแต่ iPhone 5
ล่าสุด iPhone 6 ก็หันมาใช้ Unibody ที่เป็นโลหะอลูมิเนียมทั้งตัวเช่นเดียวกับที่ทาง HTC ทำเช่นกัน และมีอีกมากมายหลายบริษัทก็เดินตามหลักการการออกแบบ การใช้วัสดุที่หรูหราเหล่านี้เข้ามา แน่นอนการเป็นอันดับหนึ่งของโลกย่อมถูกจับตามองมากกว่าใคร แม้แต่โดนจับผิด โดนติติง สิ่งหนึ่ง (และเป็นสิ่งใหญ่) ที่ทาง Samsung โดนค่อนขอดมาตลอดคือ ทำไมยังใช้วัสดุถูกๆ อย่างพลาสติค (พลาสติคแบบ PC+ABS) อยู่นั่นแหละจริงอยู่พลาสติคแบบนี้มีความยืดหยุ่นที่ดีกว่า เหนียวกว่าไม่แตกหักง่าย แต่ก็ไม่ทนทานเวลาที่ตกกระแทก เพราะมันไม่ได้ดูดซับแรงกระแทกที่กระทำกับตัวมันเลย แต่กลับส่งต่อให้ชิ้นส่วนภายในเสียหายได้ง่ายกว่ามากเมื่อเทียบกับโลหะเบาอย่างอลูมิเนียม แต่ในใจผมลึกๆ เชื่อว่า สองสามปีที่ผ่านมาที่ทาง Samsung โดนค่อนขอดเรื่องนี้มาตลอด ทาง Samsung ไม่ได้อยู่นิ่งหรอก แต่เชื่อว่าคงไปใช้เวลาในการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของวัสดุ (Science of Materials) อยู่นาน เพื่อให้แน่ใจว่าถ้าทำออกมาแล้ว จะต้องสวย ต้องดี ต้องแข็งแรงทนทาน และที่สำคัญไม่กระทบต่อการรับสัญญาณคลื่นวิทยุที่เราใช้ (ความแรงของสัญญาณคลื่นโทรศัพท์มือถืออาจถูกลดทอนประสิทธิภาพลงเมื่อมีวัสดุโลหะมาบดบังตัวรับสัญญาณหรือเสาอากาศที่ฝังอยู่ในเครื่อง)
จนในปีนี้เราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จนได้ ไม่ว่าจะเป็น A-Series อย่าง A5, A7, A8 ที่ประเดิมงานด้วยการเปิดตัวซีรีย์ใหม่นี้ตั้งแต่ต้นปี โดยใช้โลหะมาทำเป็น Unibody ทั้งเครื่อง เพื่อมาเปิดศักราชในการเปลี่ยนแปลงในการดีไซน์ใหม่สำหรับ Samsung จนมาถึง Galaxy S6, S6 edge ที่ใช้วัสดุโลหะเบาผสมผสานกับกระจก และประยุกต์ต่อจนมาถึงเรือธงของครึ่งปีนี้อย่าง Galaxy Note 5 ที่สวยงามไม่แพ้รุ่นพี่อย่าง Galaxy S6 เลย แต่เขาไม่ได้มีดีแค่ดีไซน์นะครับ ทางด้านฮาร์ดแวร์ก็มีสเปคจัดเต็มสุดๆ โดยเฉพาะ Galaxy Note 5 ถือได้ว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลานี้ จากการทดสอบด้วยแอพฯ อย่าง Antutu หรือแม้แต่ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่มีมามากมาย และกล้องที่ผมยอมรับเลยว่าดีที่สุดในตอนนี้เลยก็ว่าได้ ผมต้องยอมรับเลยว่าหลงใหลกับดีไซน์ใหม่ของ Samsung A-Series และ Galaxy S6 edge, Galaxy Note 5 เป็นอย่างมาก ผมเชื่อว่าวันนี้เรากล้าพูดได้ว่า Samsung เป็นโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่สวยที่สุดในโลกในขณะนี้เลย แต่อนาคตจะมีใครมาแซงก็ต้องคอยดูกันไปนะครับ ตลาดนี้เคลื่อนไหวกันเร็วมาก ต้องจับตาดูกันต่อว่า iPhone รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวเดือนนี้จะมีทีเด็ดทีขาดอะไรมาสู้กับ Samsung อีกไหม ต้องติดตามกันห้ามกระพริบตานะครับ
ผู้ท้าชิงแชมป์เรียงหน้ามาไม่รู้จบ…จากแดนมังกรจนถึงเมืองลุงแซม
ขณะที่ Samsung ก็กำลังขะมักเขม้นในการเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง อีกด้านก็ต้องสู้รบปรบมือกับผู้ท้าชิงอีกมากมาย วันนี้การแข่งขันสงครามสมาร์ทโฟนไม่ง่ายอย่างในอดีตที่ Samsung ไปท้าชิงเข็มขัดมาจาก Nokia เลย ในวันนั้นคู่แข่งมีจำนวนประมาณนับนิ้วได้ แต่วันนี้นับทุกนิ้วที่เรามีก็ยังไม่พอเลย โดยเฉพาะคู่แข่งจากประเทศจีนที่เกิดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็น OPPO, ASUS, Huawei, Lenovo, Xiaomi, Alcatel, Acer, ZTE, Meizu, One Plus และอีกมากมายที่กำลังเติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะห้าชื่อแรกก็สุดๆแล้ว ไหนจะคู่แข่งจากบ้านเกิดเดียวกันอย่าง LG ที่ไม่ยอมแพ้แม้แต่ยกเดียว มาจนถึง Apple iPhone ที่สู้กันยิบตา แลกหมัดกันคนละทีตลอด แต่นั่นก็ถือว่าได้เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่จะได้มีทางเลือกมากขึ้น มีตัวเลือกให้เปลี่ยนได้เมื่อเวลาที่ยี่ห้อที่เราใช้มันไม่ได้ดั่งใจเราแล้ว แถมทุกยี่ห้อยังใส่แคมเปญโปรโมชั่นกันอยู่ตลอด ยิ่งเลือกซื้อผ่านทางช่องทางผู้ให้บริการอย่าง dtac, AIS, True Move ยิ่งจัดกันหนักเข้าไป ก็ต้องดูกันต่อไปว่าอีก 5 ปี ตำแหน่งแชมป์โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน จะเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาไปจากนี้อีกแค่ไหน… มาติดตามกันยาวครับผม
สำหรับแฟนๆท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ จะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ