ถ้าหากกล่าวถึง “สิริ” เชื่อว่าหลายๆ คนที่เป็นแฟนตัวยงของ Apple ตัวจริงต้องรู้จักกันเป็นอย่างดีแน่นอน เพราะฟีเจอร์นี้อยู่คู่กับโทรศัพท์ไอโฟนมาเป็นระยะเวลาประมาณ 4 ปีได้ นับตั้งแต่วันที่ Steve Jobs เปิดตัว iPhone 4s ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2011
นับว่าเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ที่ใช้งานจะสามารถใช้คำสั่งเสียงสั่งการทำงานต่างๆ หรือถาม-ตอบข้อมูลประหนึ่งว่าเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของที่ช่วยหาตอบคำถามไขข้องสงสัยให้กับผู้ใช้งานทุกอย่าง
ถ้าหากยังจำกันได้กับการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ครั้งนั้น ก็ได้สร้างความผิดหวังให้กับใครหลายคนที่ตั้งตารอ และหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม แต่มันก็กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นขนาดหน้าจอ, รูปร่างหน้าตา, หรือแม้กระทั่งชิพการประมวลผลที่ไม่แตกต่างกับรุ่นก่อนหน้าสักเท่าไรนัก
แต่ทว่าสิ่งหนึ่งที่กลับกลายเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ของรุ่นดังกล่าวนั่นก็คือ “สิริ” แอพพลิเคชั่นที่จะเปลี่ยนโลกของการใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนให้ใช้งานได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบายเพียงแค่สั่งการด้วยเสียง
แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักประวัติคร่าวๆ ของแม่สาวสิริคนนี้กันก่อนค่ะว่าเธอนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วทำไมเธอถึงต้องชื่อ “Siri” …?
“สิริ” เริ่มต้นขึ้นเมื่อในปีค.ศ. 2003 ในงานวิจัยชื่อ CALO Project (Cognitive Assistant that Learns and Organizes) ซึ่งมีการร่วมมือกับหน่วยงานที่วิจัยไม่หวังผลกำไรหลายหน่วยงานที่มีชื่อว่า SRI (International และบริษัท DARPA )โดยมีจุดประสงค์คือต้องการสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ให้เป็นจริงขึ้นมา และในขณะนั้นก็ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า สิริออกมาจนเป็นผลสำเร็จ โดยมาพร้อมกับความสามารถแสนอัจฉริยะ นั่นก็คือสามารถใช้ภาษามนุษย์โต้ตอบกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติ (Natural Language User Interface) ซึ่งจะทำงานเสมือนเป็นผู้ช่วยส่วนตัว (Intelligent Personal Assistant) ที่คอยตอบคำถามให้กับเรานั่นเองค่ะ
แต่คำถามที่ค้างคาใจสงสัยคือ ทำไมถึงต้องตั้งชื่อว่า “สิริ” ?
ซึ่งที่มาของชื่อดังกล่าวนี้เริ่มต้นมาจากนักพัฒนาที่มีชื่อว่า Dag Kittalaus ผู้ร่วมพัฒนาสิริขึ้นมา โดยที่มาของชื่อนี้นั้นเกิดมาจากที่ว่า นาย Dag Kittalaus นั้นเคยทำงานกับหญิงสาวรายหนึ่งนามว่า “สิริ” และเขาก็ต้องการนำชื่อนี้มาตั้งให้กับลูกสาวของเขา ประกอบกับโดเมนเนมในขณะนั้นก็ว่างอยู่พอดี อีกทั้งยังเป็นชื่อที่สามารถจดจำได้ง่าย แต่สุดท้ายก็ต้องกลายเป็นเรื่องผิดหวังไป เพราะเขานั้นดันได้ลูกชายแทน หลังจากนั้น 4 ปี ต่อมาเขาได้จัดตั้งองค์กรขึ้นเป็นบริษัทในชื่อของ สิริ ซึ่งตั้งชื่อตามผลิตภัณฑ์หลักของตนเองที่มีในขณะนั้น และด้วยความสามารถอันแสนอัจฉริยะของมันที่สามารถทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นและฟังก์ชั่นอื่นๆ ได้อย่างลงตัว จึงทำให้กลายเป็นบริษัทเนื้อหอมในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยคำว่า สิริ นี้มีพื้นฐานมาจากภาษานอร์เวย์ มีความหมายว่า หญิงสาวสวยที่จะนำคุณไปสู่ชัยชนะ
“Beautiful woman who leads you to victory”
และแน่นอนว่าเมื่อมีเทคโนโลยีสุดล้ำเกิดขึ้น Steve Jobs เองก็ไม่พลาดที่จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทตัวเองอย่างแน่นอน เพราะเขาเชื่อว่าในโลกอนาคตของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนจะไม่หยุดอยู่แค่การใช้งานด้วยมือเพียงเท่านั้น และไม่ว่าจะเป็นเสียง, การเคลื่อนไหว, สายตา ก็สามารถสั่งการและใช้งานได้เหมือนกัน
ดังนั้น Steve Jobs จึงตัดสินใจเข้าซื้อบริษัท “สิริ” ทันที โดยการเข้าซื้อกิจการเกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปีค.ศ. 2010 ซึ่งซื้อเป็นจำนวนเงินมากถึง 200 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ และเขาก็ตั้งใจว่าจะนำระบบนี้มาพัฒนาต่อให้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ในทุกๆ รุ่นของ iPhone ต่อไปแต่คำถามถัดไปคือ …
ทำไม CEO Dag Kittalaus ถึงยอมขายกิจการให้กับ Steve Jobs ทั้งที่สามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง ?
ในช่วงนั้นหลังจากที่ Dag Kittalaus พัฒนาแอพพลิเคชั่นจนสำเร็จ ก็ได้นำแอพพลิเคชั่น “สิริ” ลงใน Apple Store ในเวลาต่อมา และก็ยังมีแผนการที่จะพัฒนาให้รองรับการใช้งานในระบบปฏิบัติการ BlackBerry และ Android แต่ 3 อาทิตย์ต่อมาเขาก็ได้รับโทรศัพท์จากบริษัท Apple ว่า “Scott Forstall” ต้องการที่จะคุยด้วย และเขาก็ตอบตกลงและวันต่อมาเขาก็ขับรถไปตามแผนที่บ้านของ “Scott Forstall” ตามที่ได้รับนัดมา แต่พอไปถึงจุดหมายเขาก็ต้องรู้สึกแปลกใจที่แผนที่นั้นกลับกลายเป็นแผนที่บ้านของ Steve Jobs แทน และทั้งคู่ก็ใช้เวลานั่งคุยกันเป็นเวลายาวนานถึง 3 ชั่วโมงอยู่หน้าเตาผิงเกี่ยวกับอนาคตของบริษัทของทั้งคู่
ซึ่งในการสนทนาของทั้งสองเต็มไปด้วยอนาคตที่ล้ำสมัย โดย Steve Jobs ได้อธิบายถึงแผนการณ์ในหัวของเขาว่า แอปเปิ้ล และ สิริ จะกลายเป็นคู่หูที่ดีกันได้อย่างไร พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงโลกอีกมากมาย และ Dag Kittalaus เองก็เล็งเห็นแล้วว่า Steve Jobs นั้นเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก เขาจึงตัดสินใจขายกิจการให้กับ Steve Jobs ในที่สุด
แต่เรื่องราวก็ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อ Apple เข้าซื้อกิจการในปีค.ศ. 2010 ทาง Steve Jobs เองก็ยังไม่ถูกใจชื่อ “สิริ” พยายามคิด และค้นหาชื่อที่ดีกว่าแต่ก็ไม่สำเร็จ และก็เลิกล้มความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และ”สิริ” ก็ถูกนำเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ iPhone และ iPad ทุกๆ รุ่นเรื่อยมาโดยวันเกิดของสิริก็คือ ” วันที่ 4 ตุลาคม ปี 2011 ” ซึ่งตรงกับวันที่แอปเปิ้ลเปิดตัว iPhone 4s นั่นเอง ว่าแต่ …
เคยมีใครสงสัยกันบ้างไหมว่าเจ้าของเสียงสิรินั้นคือใครหน้าตาเป็นอย่างไร ..?
สำนักข่าว CNN ได้เชิญ “Susan Bennett” มาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ “สิริ” โดยเธอบอกว่า ก่อนจะมาให้สัมภาษณ์ก็มีหลายคนบอกกับเธอว่า ทำไมเสียงของเธอช่างเหมือนกับ สิริ เหลือเกิน และยิงคำถามต่างๆ ใส่เธอเสมอเวลาที่ได้ยินเธอพูด
แต่เธอระบุว่าแม้แต่ตัวเธอเองก็ไม่มั่นใจว่าเสียงของ “สิริ” นั้นก็คือเธอเอง เพราะทาง Apple ก็ไม่ได้ยืนยันมาว่าเธอคือเจ้าของเสียง แต่ทว่าทาง CNN ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เสียงประสบการณ์ทำงานมากกว่า 30 ปี มาเทียบเคียง และผลสรุปออกมาว่าเธอคือเจ้าของเสียงที่แท้จริง 100%
ต่อมา Susan Bennett ก็เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ สิริ เกิดขึ้นเมื่อปี 2005 บริษัท ScanSoft ต้องการหาเสียงพูดสำหรับโปรเจ็คชิ้นใหม่ จึงสอบถามไปยังบริษัท GM Voices ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญการตอบสนองอัตโนมัติด้วยเสียง และทาง GM voices ก็ได้แนะนำเสียงของ Susan Bennett เพราะเธอมีผลงานที่โดดเด่น และเสนอชื่อให้กับ ScanSoft และการเซ็นสัญญาก็เกิดขึ้นในปีนั้นเอง
โดยเธอเล่าว่า หลังจากเซ็นสัญญา การทำงานของเธอในทุกๆ วันคือ ต้องอัดเสียงเป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งต้องอ่านวลี และประโยคตามบทพูดของพวกเขา เพื่อที่จะดึงสระ, พยัญชนะ, พยางค์ หรือเสียงควบออกมา และนำมาปะติดปะต่อกันขึ้นเป็นคำจนกระทั่งเกิดเป็นประโยค และในเดือนตุลาคมปี 2005 บริษัท ScanSoft ก็ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท Nuance Communications ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการสั่งการด้วยเสียงให้กับบริษัท Apple ในปัจจุบันนั่นเอง อย่างไรก็ตามทั้งสองบริษัทก็ไม่มีความเห็นใดๆ ออกมาหลังจากการสัมภาษณ์เสร็จสิ้น
นับได้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ Steve Jobs ถือว่ามีอะไรที่น่าแปลกใจอยู่เสมอ รวมถึงฝีมือการบริหาร และการสะกดผู้ฟังให้รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งในงานเปิดตัว อีกทั้งยังนำแอพพลิเคชั่นแห่งอนาคตเข้ามาสู่บริษัท แต่ทว่าปัจจุบัน แม้ Steve Jobs นั้นจะไม่อยู่แล้วก็ตาม บริษัทยักษ์ใหญ่นี้ก็ยังมีผู้สานต่อเจตนารมณ์ที่เคยยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับ Steve Jobs มายาวนานคอยดูแลอยู่ แม้จะทำได้ไม่ดีเท่าที่ Steve Jobs เคยทำไว้ และสุดท้ายการทำงานร่วมกันระหว่างสมาร์ทโฟน และผู้ช่วยอันชาญฉลาด “Siri” จะเป็นอย่างไรต่อไป เราคงต้องคอยติดตามกันต่อไปค่ะ