สวัสดีครับ ผมปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนนอล) ดูได้ทั้งทางทีวีดาวเทียมทางช่อง 32 และทีวีดิจิตอลช่อง 22 ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสด เวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณ จะมีความหมายมากกว่าเดิม… สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บ ตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้จะมาพูดเรื่อง ทิศทางของกิจการโทรคมนาคมในบ้านเราสำหรับครึ่งปี 2558 ว่าจะเป็นอย่างไร
3G ใช้มากัน 3 ปีแล้วจะยังพอรองรับกันอยู่อีกไหมต่อจากนี้
ตั้งแต่ที่ค่ายยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่าง AIS, DTAC, True Move ได้ใบอนุญาตในการใช้ความถี่ 2100 MHz ทำให้ผู้บริการทั้งสามรายได้เริ่มให้บริการ 3G อย่างเป็นทางการนั้น นับถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 3 ปีกว่าแล้ว (ผ่านไปเร็วมาก) การให้บริการ 3G ที่ทั้ง 3 ค่ายต่างช่วงชิงกันเป็นหนึ่งนั้นก็ถือว่าฟาดฟันและแข่งขันกันเป็นอย่างมากกว่าที่เคยเป็นในอดีต เพราะการก้าวกระโดดสู่โลกของ 3G นั้นนำมาซึ่งการบริการทางด้านอินเตอร์เน็ตที่ก้าวหน้ากว่าในมือถือยุคก่อนๆ มาก การใช้งานด้านอินเตอร์เน็ตที่เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนถ่ายเครื่องมือถือของผู้บริโภคจาก ฟีเจอร์โฟน (โทรศัพท์ปุ่มกดธรรมดา) กลายมาเป็นสมาร์ทโฟนที่ทำอะไรๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ เล่น Line แชตคุยกัน Facebook และอีกสารพัดเป็นร้อยอย่างพันอย่าง เพียงแค่โหลดแอพฯ ที่ชอบลงเครื่องเท่านั้นก็สนุกกับมันได้อีกมากมาย ซึ่งวันนี้แอพฯ มีให้โหลดเป็นล้านๆ แอพฯ เลยทีเดียว สิ่งนี้ได้ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือใช้สิ่งเหล่านี้บนอินเตอร์เน็ตมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ผู้ให้บริการก็ได้รายได้จากทางด้านบริการดาต้าหรืออินเตอร์เน็ตมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ขณะที่รายได้จากการที่ลูกค้าใช้โทรศัพท์ปกติจะอยู่ในระดับทรงตัวไม่โตแต่อย่างใด
แต่กระนั้นก็ตามหลังจากที่มีการประมูลและแบ่งความถี่เพื่อนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์กันแล้ว การย้ายข้ามของผู้บริโภคจากการใช้มือถือบนระบบเดิมอย่าง 2G นั้นเกิดขึ้นมากมาย เนื่องด้วยการที่ใบอนุญาตสัมปทานเดิมของทุกค่ายกำลังจะหมดลง ผู้ให้บริการก็พยายามทำการโน้มน้าวใจให้ลูกค้าเปลี่ยนเครื่องและย้ายไปสู่ระบบ 3G แทน ทุกค่ายทำเหมือนกันหมด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก กับการย้ายลูกค้าข้ามมาและการเตรียมระบบ 3G ให้พร้อมกับความต้องการของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการครอบคลุมของสัญญาณให้ได้ทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ ในต่างจังหวัด และยังต้องเตรียมเรื่องความพร้อมของทรัพยากรของระบบให้รองรับการใช้งานของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมหาศาล โดยเฉพาะการใช้งานด้านดาต้าหรืออินเตอร์เน็ตนั่นเอง ทำให้วันนี้ว่ากันตรงๆ นะครับ ทรัพยากรความถี่ย่าน 2100 MHz เริ่มพล่องไปมากพอสมควร โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ และตามภูมิภาค เราเริ่มเห็นตัวอย่างแล้วในการใช้มือถือในช่วงเวลา Peak Hour (ชั่วโมงเร่งด่วน) หรือช่วงวันเสาร์อาทิตย์ในย่านช้อปปิ้งสำคัญใจกลางเมือง จะมีผู้คนใช้ค่อนข้างมากทำให้ความเร็วในการใช้อินเตอร์เน็ตตกลง ช้าลง หรือแม้แต่การโทรติดยากขึ้นเป็นต้น เรื่องนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นน้อยลงมาสำหรับระบบของ DTAC และ True Move H เพราะทั้งสองค่ายนี้ มีความถี่ย่าน 850 MHz คอยช่วยประคองอีกชั้นหนึ่ง ถ้าความถี่ในย่าน 2100 MHz เริ่มหนาแน่น ก็ยังมีความถี่ 850 MHz ซึ่งให้บริการ 3G ด้วยเช่นกัน ต้องบอกว่าตอนนี้ระบบ 3G ถือว่าเป็นระบบพื้นฐานสำคัญของการใช้มือถือในบ้านเราไปแล้ว
ขณะที่คนใช้เทคโนโลยี 2G เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเหลือเพียง 30% ของจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด ประกอบกับการนำเข้าเครื่องโทรศัพท์มือถือใหม่ๆ วันนี้ก็กลายเป็นสมาร์ทโฟน 3G กันแทบทั้งหมดแล้ว แทบจะไม่มีเหลือเครื่อง 2G ให้เห็นกันมากนัก เพราะซื้อไปก็คงไม่รู้จะมีอนาคตกับเขาหรือป่าว
ถึงเวลาประมูลคลื่นความถี่เพื่อ 4G กันสักที
ขณะที่การก้าวไปข้างหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายส่วนบุคคลอย่างโทรศัพท์มือถือก็เข้ามาสู่ยุค 4G อย่างเต็มตัว บ้านเราเองก็ถือว่ายังไม่ล้าหลังกับเขาเท่าไร เพราะทั้งค่าย DTAC, True Move H ก็ได้นำเอาความถี่ 2100 MHz บางส่วนมาให้บริการ 4G LTE เป็นการชิมลางก่อนที่จะมีการประมูลความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ที่ได้คืนจากทาง True Move และ AIS ตามลำดับ หลังจากที่ปีที่แล้วทาง คสช. ได้ประกาศให้ทาง กสทช. เลื่อนการประมูลออกไปหนึ่งปี ด้วยเหตุผลบางประการ ถึงเวลานี้เวลาก็ได้ล่วงเลยมาจนครบแล้ว และแน่นอนการประมูลความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ก็ได้รับอนุญาตจากทางรัฐบาลและ คสช.แล้ว เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ
ล่าสุดทาง กสทช. ก็ได้ประกาศว่าจะมีการประมูลความถี่ในช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ปลายปีนี้เอง นับไปก็เหลือเวลาอีกเพียง 5 เดือนเท่านั้น โดยจะประมูลเป็นสองช่วง โดยคาดว่า 11 พ.ย. จะทำการประมูลความถี่ย่าน 1800 MHz กันก่อน โดยคาดว่าจะแบ่งออกเป็นสองใบอนุญาต ใบละ 15 MHz หนึ่งใบ และ 10 MHz อีกหนึ่งใบ (สองใบรวมกันก็เท่ากับ 25 MHz) ที่ต้องแบ่งอย่างนี้เพราะว่าตามหลักการสากลของการใช้ความถี่ 3G/4G นั้นจะแบ่งออกเป็นช่วงละ 5 MHz เพราะฉะนั้นจะแบ่งเศษน้อยกว่า 5 MHz ไม่ได้ คาดว่ามูลค่าเริ่มต้นใบอนุญาตละ 11,260 ล้านบาทสำหรับความถี่ 10 MHz แต่ประมูลแล้วจะไปสิ้นสุดที่ราคาเท่าไรก็ต้องรอดูกัน
ขณะที่การประมูลความถี่ย่าน 900 MHz (ที่คืนมาจาก AIS) จะมีอยู่ 20 MHz แบ่งได้เป็นสองใบอนุญาต ใบละ 10 MHz โดยคาดว่ามูลค่าเริ่มต้นใบอนุญาตละ 11,260 ล้านบาท ซึ่งวันประมูลอาจจะกำหนดอยู่ในช่วง 15 ธันวาคมปลายปีนี้ หลังจากนั้นคาดว่าผู้ให้บริการสามารถขึ้นระบบ 4G LTE ใหม่ได้อย่างช้าเริ่มต้นประมาณ 6 เดือนหลังจากได้ใบอนุญาต ซึ่งก็น่าจะประมาณกลางปีหน้าเป็นต้นไป เราก็จะได้ใช้เทคโนโลยี 4G กันแบบเต็มรูปแบบอย่างแน่นอน ส่วนเวลาที่เหลือปีนี้ก็คงต้องประคองๆ กันไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าย AIS ที่มีความถี่แค่ย่าน 2100 MHz เท่านั้น ก็คงต้องหาทางบริหารจัดการกันไป
ล่าสุดทางค่ายสีเขียวก็โดยนำเอา Ultra WiFi มาช่วยรองรับในย่านเมืองและห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ในเวลาที่ผู้ใช้เข้าไปใช้บริการ สำหรับค่ายยักษ์อย่าง DTAC ก็มีความถี่ทั้ง 2100 MHz และ 850 MHz และยังมี WiFi ให้บริการกันอย่างเต็มรูปแบบต่อไป ซึ่ง True Move H ก็มีทรัพยากรความถี่แบบเดียวกัน ถ้าใครอยากใช้ 4G LTE ก่อนในตอนนี้ก็ติดต่อผู้ให้บริการทั้ง DTAC, True Move H ได้เลย เพียงแต่คุณมีเครื่องสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4G LTE เท่านั้นก็เริ่มต้นได้แล้ว (อย่าลืมไปเปลี่ยน SIM กับผู้บริการก่อนที่จะใช้ 4G นะครับ)
โทรศัพท์สมาร์ทโฟนก็จะถูกลงไปเรื่อยๆ เลิกซื้อฟีเจอร์โฟนกันได้แล้วนะครับ
สิ่งสำคัญของการใช้บริการโทรศัพท์มือถือวันนี้ แน่นอนว่าโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นสิ่งสำคัญ การเปลี่ยนถ่ายจากเทคโนโลยี 2G มาสู่ 3G เป็นเรื่องที่ทุกๆ คนต้องไปโดยปริยาย เพราะผู้ให้บริการนั้นต้องการผลักดันไปในทิศทางนั้นอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ อาจเห็นทิศทางนี้ไม่ชัด 100% อย่างที่ทางผู้ให้บริการวางแผนไว้ ทำให้เราก็ยังเห็นเครื่อง ฟีเจอร์โฟน 2G (แบบปุ่มกด และจอเล็ก) ขายอยู่ในตลาด แนะนำเลยว่าอย่าไปซื้อนะครับ เพราะมันกำลังจะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิคส์ของคุณ เนื่องจากเขาจะเลิกให้บริการ 2G กันอยู่แล้ว (ยกเว้น DTAC ยังให้บริการ 2G ไปอีก 3 ปี) ขณะที่ผู้ให้บริการก็หันไปหาเครื่องสมาร์ทโฟน 3G จากประเทศจีนมาชวนผู้ใช้เปลี่ยนเครื่องกันอย่างมากมาย บางผู้ให้บริการก็รับเปลี่ยนเครื่องบวกเพิ่มเงินแล้วแถมค่าบริการเลยก็มี ซึ่งมีตั้งแต่ 300-500 บาทเท่านั้น ก็เป็นกลยุทธ์ที่ทางผู้ให้บริการต้องการย้ายฐานลูกค้าไปสู่ระบบ 3G ให้เร็วและมากที่สุด เท่าที่จะทำได้
ขณะที่อีกด้านหนึ่งผู้ให้บริการอย่าง AIS, DTAC, True Move H ต่างก็นำเข้าเครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟนราคาประหยัดมาขายให้กับลูกค้าของตนเองอย่างมากมาย ชนิดที่ว่าถูก สเปคสูงและน่าใช้ (เพราะมากับโปรโมชั่นค่าโทรทุกตัว) กว่าแบรนด์อินเตอร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น AIS Lava Super Combo จากค่าย AIS ที่ขายดีถล่มทลาย หรือจะเป็น DTAC Phone (ผลิตโดย ZTE) จากค่าย DTAC ที่ปั้มขายแทบไม่ทัน และ True Move H ก็มีสมาร์ทโฟนมากมายหลายรุ่นอย่าง Smart Series ออกมาจำหน่ายด้วยเช่นกัน
ล่าสุดทาง DTAC ก็ออกสมาร์ทโฟน 4G LTE ในชื่อรุ่น Eagle X ที่มีดีไซน์สวยงามและใช้ 4G ได้ในราคาเพียง 5,990 บาท ซึ่งทิศทางของผู้ให้บริการ ก็จะพัฒนาและออกผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน 3G/4G LTE ในระดับราคาที่ไม่แพง แต่ใช้ดีและมีคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับตลาดกลางถึงล่างที่อาจจะยังไม่แฮปปี้กับทางเลือกที่มีมาจากค่ายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาที่สูงกว่า แต่ได้ตรงยี่ห้อที่ไว้วางใจได้ (แต่อาจไม่โดนใจผู้บริโภค) ครึ่งปีหลังคาดว่าตลาดมือถือสมาร์ทโฟนของไทย จะสู้กันดุเดือดอีก ทางเลือกของผู้บริโภคจะมียิ่งขึ้นไปอีก และแน่นอนผู้ให้บริการอย่าง AIS, DTAC, True Move H ก็ยังกรีฑาทัพนำเครื่องดีราคาประหยัดสเปคสูง ทั้ง 3G/4G ออกมารองรับผู้บริโภคในตลาดกลางถึงล่างให้ได้เปลี่ยนเครื่องและใช้บริการดีบนเทคโนโลยี 4G ที่กำลังจะมาอย่างเต็มตัวในปีหน้านี้ เตรียมตัวกันให้พร้อมนะครับ J
สำหรับแฟนๆท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ จะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ J