สิ้นสุดการรอคอยอันยาวนานกว่า 33 ชั่วโมง กับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่เริ่มการประมูลมาตั้งแต่เวลา 10:00 น. ของวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่มีการเคาะประมูลต่อเนื่องห้ำหั่นราคากันมาถึง 86 ครั้ง ข้ามวันข้ามคืนมาราธอนจนถึงเวลา 19.00 น.ของวันที่ 12 พฤศจิกายน ในที่สุดก็ได้ผู้ชนะการประมูล 2 รายจากทั้งหมด 4 รายที่เข้าร่วมประมูลในการครั้งนี้
การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ครั้งนี้สรุปมูลค่าทั้งสิ้น สูงถึง 80,778 ล้านบาท มากกว่าราคาตั้งต้นไว้ถึง 153.8% โดยได้แบ่งออกเป็น 2 lot ด้วยกัน
- Lot ที่ 1 (1710 – 1725 / 1805 – 1820 MHz) มูลค่าการประมูลอยู่ที่ 39,792 ล้านบาท (สูงกว่าราคาตั้ง 150.08%)
- Lot ที่ 2 (1725 – 1740 / 1820 – 1835 MHz) ที่ 40,986 ล้านบาท (สูงกว่าราคาตั้ง157.6%)
และผู้ที่ชนะในการประมูลทั้ง 2 รายในครั้งนี้ก็คือ
TrueMove H (ในนามบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชัน จำกัด) เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1,800 MHz ใน Lot ที่ 1 ส่วน AIS (ในนามบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด) ชนะในการประมูล Lot 2 คนที่อกหักไปในการประมูลครั้งนี้ก็คือ dtac และ JAS
ประมูลคลื่นความถี่ 1,800 MHz สร้างสถิติการประมูลสูงที่สุด มากกว่าประมูลทีวีดิจิตอล!
ในปีที่แล้ว การประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่ใช้ระบบการประมูลรูปแบบเดียวกัน แต่ทว่าจบเร็วกว่าการประมูลคลื่น 1,800 MHz มาก ซึ่งตอนนั้นทีวีดิจิทัลมียอดมูลค่าการประมูลรวมแล้วอยู่ที่ 50,862 ล้านบาท ส่วนการประมูลคลื่นฯ ครั้งนี้แค่ 2 Lot แข่งกัน 4 ราย มูลค่านั้นพุ่งไปถึง 80,778 ล้านบาท สูงกว่าการประมูลทีวีดิจิทัลเกือบ 3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ ทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ (กทค.) จะทำการรับรองผลการประมูลภายในไม่เกินวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 และหลังจากนั้นภายใน 90 วัน ผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 ราย คือ TrueMove H และ AIS จะต้องทำการชำระเงินค่าประมูลงวดแรก 50% และต่อจากนั้น กทค.จะนัดวันเพื่อรับใบอนุญาตฯ อีกครั้ง
การประมูลครั้งนี้จะส่งผลให้กรอบระยะเวลาการเปิดให้บริการเครือข่าย 4G สามารถเริ่มได้ทันช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 นี้อย่างแน่นอน
การประมูลยังไม่จบ! พบกันอีกครั้ง 15 ธันวาคมนี้
ใช่แล้วครับ การประมูลคลื่นความถี่ยังเหลือของคลื่น 900 MHz ที่เดิมทาง กสทช. ได้กำหนดวันการประมูลเอาไว้ในวันนี้ (12 พฤศจิกายน) แต่ว่าได้ทำการเลื่อนกลับไปเป็น 15 ธันวาคมเหมือนเดิม เนื่องจากมีนักวิชาการเสนอว่าการประมูลทั้ง 2 คลื่นความถี่ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน อาจจะส่งผลต่อมูลค่าของการประมูล ซึ่งตอนนั้นต้องมาดูว่าการประมูลจะดุเดือดขนาดไหน และใครบ้างที่จะได้คลื่นความถี่นี้ไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : MXphone | กสทช.