สวัสดีครับ ผมปีเตอร์กวง ควงมือถือ พิธีกรรายการ “ล้ำหน้าโชว์” ซึ่งรายการนี้ผลิตและสร้างสรรค์โดย บริษัท ล้ำหน้าโชว์ จำกัด ที่เราทั้งสาม (พี่หลาม ปีเตอร์กวง อาจารย์ศุภเดช) ได้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยกันเพื่อให้ผู้ชมได้บริโภคสาระดีๆ ที่ให้ความรู้ด้านไอทีและเทเลคอม บวกความบันเทิงตามสไตล์แบบของพวกเราไปด้วย โดยออกอากาศทางช่อง Nation Channel (เนชั่นแชนนอล) ดูได้ทั้งทางทีวีดาวเทียมทางช่อง 32 และทีวีดิจิตอลช่อง 22 ทุกวันอาทิตย์ ออกอากาศสด เวลา 15:00-16:00 อยากให้ติดตามกันเยอะๆ นะครับ แล้วบ่ายวันอาทิตย์ของคุณจะมีความหมายมากกว่าเดิม… สำหรับตัวผมเองก็ยังประจำการใน What Phone Magazine ทุกเดือนเหมือนเช่นเคยครับ เพื่อไขข้อข้องใจและเก็บตกข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการเทเลคอม ทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ สำหรับฉบับนี้จะมาพูดเรื่อง การประมูลคลื่นความถี่เพื่อใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เตรียมจะจัดประมูลในเดือน พฤศจิกายน นี้กัน
คลื่นเก่าในการจัดสรรรูปแบบใหม่ การประมูลใบอนุญาต เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชน
จริงๆ แล้วคลื่นความถี่ในบ้านเราก็มีหลายคลื่นที่สามารถนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กันได้ ไล่ตั้งแต่ 850 MHz, 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz, 2600 MHz แต่ถ้านับว่าคลื่นความถี่ที่มีการใช้งานอยู่แล้วก็ได้แก่ 850 MHz ที่ทาง dtac, True Move H ให้บริการ 3G กันอยู่ สำหรับ 900 MHz ที่ก่อนหน้านี้ AIS ได้ใช้เพื่อให้บริการ GSM นั้น ก็ถือว่าได้มีการใช้ไปจนหมดอายุสัมปทานที่ได้จาก TOT ไปแล้ว (รูปแบบสัมปทานนั้นการได้มาซึ่งสิทธิในการถือครองและใช้นั้น ไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตล่วงหน้า หากแต่ต้องแบ่งรายได้ที่หามาได้ ให้กับหน่วยงานของรัฐตามเปอร์เซ็นต์ที่ได้ตกลงกันไว้ ตลอดอายุสัมปทานโดยไม่มีข้อแม้) และภายใต้ พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ ทำให้คลื่นความถี่ 900 MHz กลับมาเป็นของแผ่นดิน และ กสทช.จึงได้ทำการนำมาประมูลเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป
เฉกเช่นเดียวกับคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ทาง DPC (บริษัทลูกของ AIS) และ True Move ก็ใช้ไปจนหมดอายุสัมปทานที่ได้จาก CAT ไปก่อนหน้านี้แล้วเช่นกัน (ตั้งแต่สองปีก่อน) ส่วนคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ทาง dtac ให้บริการอยู่ ยังมีสิทธิถือครองในสัมปทานไปจนถึงปี 2561 หรืออีกสามปีข้างหน้า ถึงเวลานั้น dtac ก็ต้องเลิกยุติการใช้คลื่น 1800 MHz ด้วยเช่นกัน และทาง กสทช. ก็จะนำมาประมูลใบอนุญาตกันอีกที สำหรับคลื่น 2100 MHz นั้นได้มีการประมูลไปแล้วเมื่อสองปีก่อน และก็มีการนำมาใช้เพื่อให้บริการกันไปแล้วทั้งเทคโนโลยี 3G หรือ 4G โดยทั้งสามค่ายเดิมอย่าง AIS, dtac, True Move H ก็ยังเป็นสามยักษ์ใหญ่รายเดิมที่ยังให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องต่อไป จากการชนะประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่ผ่านมาโดยได้สิทธิถือครองเป็นเวลา 15 ปี
สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz นั้น ปัจจุบันอยู่ในการถือครองของ TOT เป็นจำนวน 64 MHz ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้สำหรับการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะในชนบทอยู่ มีแนวโน้มว่าทาง TOT จะทำเรื่องขอเพื่อนำไปอัพเกรดเพื่อให้บริการ 4G/LTE แทน สำหรับคลื่นความถี่ 2600 MHz นั้นปัจจุบันหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐอย่าง อสมท. นั้นถือครองอยู่ โดยมีมากถึง 144 MHz (ใช้ในการแพร่ภาพสัญญาณโทรทัศน์) ในรายงานล่าสุดนั้นทาง อสมท.ยินดีที่จะคืนให้แผ่นดินเป็นจำนวน 60 MHz เพื่อให้ทาง กสทช. ได้นำไปใช้เพื่อการประมูลต่อไปในปี 2559 ที่จะมาถึงนี้ จะเห็นได้ว่าคลื่นความถี่ที่นำมาใช้เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เคยถูกถือครองโดยรัฐวิสาหกิจของรัฐทั้งสิ้น แต่ว่ากันตามตรงกลับเป็นหน่วยงานเอกชนทั้งนั้นที่สามารถปั้นบริการและทำให้เกิดธุรกิจขึ้นมาได้อย่างเป็นจริงเป็นจังอย่างมีคุณภาพ
ขณะที่การเกิดขึ้นของ กสทช. นั้นได้มีการหารือในกฎกติกาการจัดสรรคลื่นความถี่ของบริการสาธารณะ (วิทยุ โทรทัศน์ และ โทรศัพท์เคลื่อนที่) จากการที่ทางรัฐวิสาหกิจจะถือครองความถี่ไปตลอด ก็มีข้อคิดเห็นในที่ประชุมว่า ถ้ารัฐวิสาหกิจไม่สามารถบริหารจัดการความถี่ที่ถือครองได้ แล้วนำความถี่ที่ถือครองนั้นไปให้เอกชนดำเนินการในรูปแบบสัมปทาน หรือรูปแบบการร่วมกิจการงานร่วมกัน เมื่อหมดอายุสัมปทานหรือสัญญาร่วมกิจการงานแล้ว จะต้องทำการส่งคืนความถี่ให้แก่รัฐ เพื่อไปทำการดำเนินการจัดสรรด้วยการประมูลต่อไป สิ่งเหล่านี้ทำให้อำนาจรัฐวิสาหกิจที่เคยผูกขาด เริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงในสิทธิดังกล่าว นั่นแปลว่าในอนาคตรัฐวิสาหกิจ (ที่ปัจจุบันแปรรูปไปเป็นบริษัทแล้ว) ถ้าต้องการที่จะได้คลื่นความถี่มาเพื่อใช้ในการดำเนินงาน อาจจะต้องเข้าร่วมประมูลแข่งขันกับเอกชนด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรแค่ไหน คงต้องมาติดตามกันต่อไปในอนาคต หลังจากที่ประเทศไทยของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคเสรีโทรคมนาคมเต็มตัวแล้ว (ตอนนี้มันเหมือนไม่ค่อยเต็มตัวเท่าไรนัก…)
จับตาการประมูลครั้งนี้ ใครจะได้ ใครจะพลาด
การจัดสรรการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ น่าจับตาดูมากๆ หลังจากที่สองปีก่อนได้มีการประมูลความถี่ย่าน 2100 MHz เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์โทรคมนาคมไทย หลังจากเปลี่ยนรูปแบบจากการให้สัญญาสัมปทานแก่เอกชน ซึ่งการใช้การประมูลนั้นถือว่าเป็นรูปแบบที่นานาชาติทำกันมาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าบริการที่ถูกลง (ตามข้อกำหนดในตอนประมูล) การแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับเอกชน และการให้บริการลูกค้าที่ดีที่สุดจากผู้ถือใบอนุญาต เพราะต้องแข่งขันกับเอกชนรายอื่นๆ เพื่อเอาชนะใจลูกค้าให้ได้ดีที่สุด
จากสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ให้บริการทั้งสามรายได้แก่ AIS, dtac, True Move H นั้นต่างก็มีความถี่ 2100 MHz อยู่ในมือกันคนละ 15 MHz โดยที่ทาง AIS ใช้ให้บริการ 3G, DTAC นำมาใช้ให้บริการ 3G, 4G LTE ขณะที่ทาง True Move H ได้นำมาให้บริการ 3G, 4G LTE เช่นเดียวกับ dtac แต่ในอีกทาง dtac, True Move H นั้นต่างมีความถี่อื่นในมือที่ทาง AIS ไม่มี โดย dtac มีความถี่ 850 MHz จำนวน 10 MHz ที่มาให้บริการเพิ่มในเทคโนโลยี 3G จากสัญญาสัมปทานกับ CAT (ไม่รวมอีก 25 MHz ที่ให้บริการบนเทคโนโลยี 2G GSM อยู่ในตอนนี้) และความถี่ 1800 MHz จำนวน 10 MHz จากสัญญาสัมปทานกับ CAT เช่นกัน ที่ล่าสุดเพิ่งนำมาใช้ในบริการ 4G LTE เพิ่มเติม ขณะที่ทาง True Move H นั้นมีความถี่ 850 MHz จำนวน 10 MHz ที่ดำเนินงานร่วมกิจการงานกับทาง CAT อีกความถี่หนึ่งสำหรับให้บริการ 3G ทำให้ AIS อยู่ในสภาวะที่เสียเปรียบที่สุด เพราะมีความถี่น้อยสุด เพียง 15 MHz เมื่อเทียบกับอีกสองรายคู่แข่งต่างมีมากกว่า (dtac มี 35 MHz จากรูปแบบใบอนุญาตและสัมปทานจาก CAT ขณะที่ True Move H มี 25 MHz จากรูปแบบใบอนุญาตและการร่วมกิจการงานกับ CAT)
ขณะที่การประมูลที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้จะมีการประมูลความถี่ย่าน 1800 MHz เป็นจำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ส่วนในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้จะมีการประมูลความถี่ย่าน 900 MHz เป็นจำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ซึ่งทั้งสองความถี่ ถือว่าเหมาะสมในการนำเอาไปใช้กับเทคโนโลยี 4G LTE หรือจะเป็น 3G ก็ได้ หรือแม้แต่จะปรับเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยี 5G ในอนาคตก็สามารถทำได้เช่นกัน ตราบใดที่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุไป โดยจะมีอายุประมาณ 15 ปี หลังจากที่ทาง กสทช. ได้นำเอาร่างหลักเกณฑ์ฯ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเพื่อเริ่มขบวนการการประมูลสู่สาธารณะ มีการประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประมูล ก็มีบริษัทเอกชนได้ทำการยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลกันไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเอกชนที่เข้าร่วมการประมูลทั้งใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz นั้น ปรากฏว่าเป็นเอกชนสี่รายเดียวกันทั้งสองใบอนุญาตคลื่นความถี่ อันได้แก่
1) บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด (บริษัทในเครือ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล)
2) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (บริษัทในเครือ ดีแทค)
3) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (บริษัทในเครือ เอไอเอส)
4) บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (บริษัทในเครือ ทรู)
ก็ชัดเจนว่าสามบริษัทยักษ์ใหญ่เดิมเข้าประมูลร่วมด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เฉกเช่นเดียวกับตอนประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz แต่ในคราวนี้มีคู่แข่งเพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งราย นั่นก็คือ แจส โมบาย บรอดแบรนด์ นั่นเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัท จัสมิน อินเตอร์ฯ ได้มีการให้ข่าวมาก่อนแล้วว่าจะทำการเข้าแข่งขันการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz อย่างแน่นอน และก็มาตามนัด
ขณะที่การประมูลที่ต่อเนื่องกันทั้งสองวัน (11-12 พฤศจิกายน) จะมีใบอนุญาตให้ประมูลกัน 4 ใบ เท่ากับจำนวนผู้เข้าประมูลพอดี แต่แน่นอนว่าการประมูลบนใบอนุญาต 1800 MHz ย่อมเป็นเป้าหมายแรกของทุกบริษัท เพราะมีความถี่ให้ได้ใช้งานอยู่ที่ใบอนุญาตละ 15 MHz ขณะที่ใบอนุญาต 900 MHz นั้นมีอยู่ที่ 10 MHz ต่อใบอนุญาต (แน่นอนว่า 15 MHz ย่อมทำให้ผู้ให้บริการมีขีดความสามารถในการให้บริการได้ดีกว่า ทั้งประสิทธิภาพในการให้บริการ และขีดความสามารถในการรองรับผู้ใช้ได้มากกว่าในเวลาเดียวกัน) งานนี้ AIS เป็นบริษัทที่อยากได้ความถี่มากที่สุด เนื่องจากว่าตอนนี้ความถี่ 2100 MHz ที่ให้บริการ 3G ก็เริ่มจะไม่เพียงพอต่อการรองรับลูกค้าของตัวเองที่มีมากถึง 40 ล้านคนแล้ว เรียกว่ามีลูกค้ามากกว่ารายอื่น แต่มีความถี่น้อยกว่ารายอื่น เพราะฉะนั้นงานนี้ AIS จะพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวงในการประมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งความถี่ใหม่ และนำไปต่อยอดสู่บริการ 4G LTE ในทันที (เพราะตอนนี้ยังไม่ได้เปิดให้บริการ 4G LTE แต่อย่างใด เพราะความถี่มีไม่พอ) แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า dtac, True Move H จะพลาดได้ แน่นอนทั้งอีกสองรายก็ต้องสู้สุดกำลังเพื่อให้ได้ใบอนุญาตมาอีกหนึ่งใบเป็นอย่างน้อยเพื่อเน้นการขยายการให้บริการ 4G ไปอีกระดับหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้อินเตอร์เน็ทไร้สายที่เติบโตขึ้นอย่างมาก
ขณะที่ แจสโมบาย (จัสมิน อินเตอร์ฯ) เองก็ต้องการก้าวเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขันที่ครบวงจรให้มากขึ้น นอกเหนือจากการให้บริการอินเตอร์เน็ท บรอดแบรนด์และ Wi-Fi ในนามของ 3BB มานานพอสมควร ซึ่งรอบข้างในปัจจุบันเองก็อยากให้มีผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมกับผู้บริโภคต่อไปในอนาคต ถ้าเป็นอย่างนั้นแปลว่า 4 ใบอนุญาตอาจจะกระจายไปอยู่ในมือผู้ประมูลคนละ 1 ใบ แต่ก็ไม่แน่นะครับ การประมูลนี้อาจจะจบลงที่ผู้ชนะอาจมีเพียง 3 ราย เหมือนเดิมก็เป็นได้ แปลว่าอาจมี 1 รายได้ใบอนุญาตไปสองความถี่ (สองใบ) ก็เป็นไปได้ และอีก 2 รายได้ใบอนุญาตไปรายละ 1 ใบ แล้วมีผู้อกหักไปอีก 1 ราย ก็เป็นได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ งานนี้ต้องจับตาดู พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
ในการคาดคะเนผลของการประมูลนั้น แน่นอนว่าทุกๆ ฝ่ายเชื่อว่าผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ที่ได้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนกันมาอย่างยาวนาน อย่าง AIS, dtac, True Move H ย่อมมีโอกาสในการเข้าวินอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะด้วยประสบการณ์ในการให้บริการมาอย่างยาวนาน ประสบการณ์ในการประมูลที่ผ่านมา รวมถึงเงินทุนมหาศาลที่พร้อมจะเทหมดหน้าตักเพื่อแย่งมาให้ได้ซึ่งใบอนุญาตในคลื่นความถี่ที่จัดเข้าสู่การประมูล ขณะที่รายใหม่อย่าง แจส โมบาย ต้องฝึกปรือให้หนักแน่นว่าจะผ่านด่านแรกในการประมูลไปได้หรือไม่ หรือจะเพรี่ยงพร้ำให้ยักษ์ใหญ่ทั้งสาม อย่างที่คนในวงการคาดไว้ แต่ถ้า แจส โมบาย สามารถประมูลชนะขึ้นมาล่ะ งานนี้ต้องบอกว่า แจส โมบายจะได้เหนื่อยกันยาวๆ เลยล่ะครับ การได้มาซึ่งใบอนุญาตย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางบริษัทต้องชนะให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี (คาดว่า 2 ปีครึ่งเป็นอย่างน้อย) กว่าจะสร้างโครงข่ายให้เทียบเท่ากับพื้นที่การให้บริการของคู่แข่งอย่างน้อย 80% ต้องสร้างทีมงานใหม่ในการก่อร่างสร้างบริษัท เพื่อให้มีทีมงานคุณภาพพร้อมในการให้บริการไปอีกอย่างน้อย 15 ปี ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและเหนื่อยกันยาวๆ เลยทีเดียว
ส่วนตัวผมเองเคยสัมผัสประสบการณ์นั้นมาสมัยที่ทำงานให้กับ Orange ที่เป็นผู้ให้บริการรายที่สามที่ผุดขึ้นมาบ้านเรา และเริ่มจากศูนย์ คือพูดง่ายๆ ว่าไม่มีเสาส่งสัญญาณเลยแม้แต่ต้นเดียว จนต้องสร้างขึ้นมาให้เป็นหลายหมื่นต้นในการที่จะสร้างพื้นที่การให้บริการที่ครอบคลุมเท่าคู่แข่งเก่าอย่าง AIS, dtac ที่มีประสบการณ์มากว่า 15 ปี (ในวันนั้น) แต่ถ้า แจส โมบายทำได้ ก็จะทำให้เกิดสีสัน และการแข่งขันที่ดีขึ้นกว่าในวันนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกทาง และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงประชาชนชาวไทยอีกในระยะยาว ขณะที่ถ้าผู้ให้บริการเดิม (รายหนึ่งรายใด) ไม่สามารถชนะการประมูลคลื่นความถี่นี้แม้แต่ใบอนุญาตหนึ่งล่ะ…
สมมุติถ้า AIS ไม่ชนะการประมูลเลย สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ… AIS จะไม่มีความถี่ใหม่มารองรับผู้ให้บริการที่มีมากถึง 40 ล้านคน และจะไม่มี 4G LTE ให้บริการ ขณะที่อีกทางออกก็คือ AIS ต้องไปขอโรมมิ่งกับทาง TOT แทน การขยายเครือข่ายก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะไม่ใช้ความถี่ที่ตัวเองถือครองและต้องร้องเพลงรอต่อไปในปีหน้า เมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ใน ในอีกด้านหนึ่งถ้า dtac หรือ True Move H ไม่ชนะการประมูลในครั้งนี้ ผลกระทบอาจไม่มากเท่า AIS เพราะปัจจุบันทั้งสองบริษัทมีความถี่ที่จัดสรรใช้อยู่นอกจากย่าน 2100 MHz ที่ให้บริการไปก่อนหน้านี้แล้วทั้งความถี่ 850 MHz, 1800 MHz ถ้าไม่ได้คราวนี้ก็เตรียมตัวในการประมูลคลื่น 2600 MHz ในปีหน้าต่อไป เชื่อว่าเอกชนที่จะเข้าประมูลก็คงมีกันอยู่แค่นี้ล่ะครับ อีกไม่นานแล้ว 12 พฤศจิกายน ก็จะทราบว่าใครจะได้ใบอนุญาตใหม่นี้กันบ้าง มาติดตามกันนะครับ
สำหรับแฟนๆ ท่านใดที่มีคำถาม สามารถติดตามมาได้ที่ twitter ของผม @peter2514 นะครับ ส่วน facebook ตามมาได้ที่ จะติดตาม Instagram ก็ Search หา ID “peter2514” ได้นะครับ แล้วเจอกันใหม่ฉบับหน้านะครับ ขอบคุณทุกการติดตามครับ